“ฮับแมลงโลก” ใกล้ความจริง จิ้งหรีดไทย “ผง ปรุงสุก แช่แข็ง”บุกตลาดเม็กซิโกสำเร็จ ญี่จ่อนำเข้าด้วย

  •  
  •  
  •  
  •  

อลงกรณ์ พลบุตร

ความฝันนโยบายที่จะเนรมิตไทยให้เป็น “ฮับแมลงโลก” หวังเจาะตลาด 3 หมื่นล้าน ใกล้เป็นจริงแล้ว ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯบุกเจาะตลาดจิ้งหรีดในเม็กซิโกได้สำเร็จ ล๊อตแรกประเดิม “จิ้งหรีดผง” ตามด้วยออเดอร์ใหม่เริ่มอีก 2 รายการ “จิ้งหรีดปรุงสุก-แช่แข็ง” ขณะที่ “อลงกรณ์” เผยญี่ปุ่นสนใจพร้อมนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดผงของไทยเช่นกัน

        วันที่ 24 มี.นาคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างแถลงประจำสัปดาห์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็นฮับแมลงโลกโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อสนับสนุนฟาร์มจิ้งหรีด และอุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food)ในการเจาะตลาดโลก 3 หมื่นล้านนั้น ปัจจุบันจิ้งหรีดและแมลงอีกหลายชนิดเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจและเป็นโปรตีนทางเลือกที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ให้การสนับสนุนเพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย

     ล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ ประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดเม็กซิโก และกลุ่มบริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นก็สนใจและประสานงานมาเพื่อขอหารือเรื่องการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดผงของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรกำลังขยายการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดโดยมีฟาร์มจิ้งหรีดกว่า 2 หมื่นฟาร์ม และมีบริษัทสตาร์ทอัพหลายบริษัทที่ทำการแปรรูปจิ้งหรีดทั้งแบบผงและแบบเต็มตัว

        ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เม็กซิโกได้ประกาศอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผงแป้งจิ้งหรีด (Cricket flour) จากประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 เม็กซิโกได้ขยายขอบข่ายสินค้าที่อนุญาตการนำเข้าเพิ่มเติมอีก 2 รายการ ได้แก่ จิ้งหรีดปรุงสุก (Cooked cricket) และจิ้งหรีดแช่แข็ง (Frozen cricket) โดยได้ประกาศข้อกำหนดด้านสุขอนามัยสัตว์ (Zoosanitary Requirement Sheet หรือ HRZ) สำหรับการนำเข้าบนเว็บไซต์ทางการของ SENASICA ถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรมในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าแมลงของโลก หรือ “ฮับแมลงโลก” และเป็นผู้ส่งออกสินค้าจิ้งหรีดหลักของโลก ช่วยสร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย

        ทั้งนี้ มกอช. เล็งเห็นถึงโอกาสทางการตลาดของจิ้งหรีดในการเป็นอาหารยุคใหม่ของประชากรโลก และศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตและแปรรูปจิ้งหรีดป้อนตลาดโลก จึงได้ผลักดันการเปิดตลาดใหม่และขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด เม็กซิโกเป็นตลาดใหม่ตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากชาวเม็กซิกันนิยมบริโภคแมลงในรูปแบบที่หลากหลาย มีการยอมรับการบริโภคผลิตภัณฑ์จากแมลงที่สูงที่สุดในโลก และมีอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจำนวนมาก จึงมีความต้องการนำเข้าจิ้งหรีดเพื่อบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปต่อเนื่องเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ โปรตีนสกัดเข้มข้น โปรตีนบาร์ เส้นพาสต้า ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแลต

        มกอช. จึงร่วมกับกรมปศุสัตว์ ผลักดันการเปิดตลาดจิ้งหรีดเม็กซิโก โดยจัดทำข้อมูลทางเทคนิคและเจรจากับสำนักงานแห่งชาติด้านสุขอนามัยความปลอดภัยและคุณภาพของการเกษตรและอาหาร (Servicio Nacional de Sanidad, Inocuidady Calidad Agroalimentariaหรือ SENASICA) ของเม็กซิโก จนทำให้เม็กซิโกมีความเชื่อมั่นและให้การยอมรับระบบการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของการผลิตจิ้งหรีดตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงโรงงาน รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยและกระบวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนการส่งออกของประเทศไทย และเปิดตลาดอนุญาตการนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากประเทศไทยในที่สุด โดยผลิตภัณฑ์ที่เม็กซิโกอนุญาตนำเข้า ได้แก่ จิ้งหรีดผง จิ้งหรีดปรุงสุก และ จิ้งหรีดแช่แข็ง ซึ่งต้องผลิตจากจิ้งหรีดสายพันธุ์ Acheta domesticusหรือที่เรียกในประเทศไทย คือ จิ้งหรีดบ้าน หรือ สะดิ้ง หรือ ทองแดงลาย เท่านั้น

       อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปยังเม็กซิโกต้องดำเนินการตามข้อกำหนด ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจะต้องผลิตจากจิ้งหรีดที่เลี้ยงในฟาร์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน “การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด หรือ มกษ. 8202-2560” โดยเกษตรกรขอการรับรองได้ที่กรมปศุสัตว์ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด,   2. ผลิตภัณฑ์จะต้องมีแหล่งกำเนิดในประเทศไทย

     3. โรงงานแปรรูปจะต้องผ่านการตรวจรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่ามีกระบวนการแปรรูปให้มีความปลอดภัยต่อการบริโภคของมนุษย์ และมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบของเม็กซิโก ได้แก่ มีการนำหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Hygienic practice: GHP) ไปปฏิบัติใช้ตลอดกระบวนการผลิต และมีมาตรการป้องกันผลิตภัณฑ์จากการปนเปื้อนของโปรตีนของสัตว์เคี้ยวเอื้องหรือจากแมลงชนิดอื่นที่ไม่ใช่จิ้งหรีด

     4. ก่อนการส่งออกจะต้องยื่นขอใบรับรองสุขอนามัย (Health certificate) กับกรมปศุสัตว์ เพื่อใช้แสดงประกอบการนำเข้า ณ ด่านนำเข้าของเม็กซิโก และ (5) สินค้าต้องนำเข้าผ่านด่านที่กำหนดเท่านั้น (ด่านนำเข้าสำหรับสินค้าที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิปกติ จำนวน 16 ด่าน และสินค้าแช่เย็นจำนวน 9 ด่าน)

        นายพิศาล กล่าวอีกว่า มกอช. ได้เสริมสร้างศักยภาพแก่เกษตรกรผู้ผลิตจิ้งหรีดของไทยเข้าสู่ระบบมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่องโดยการอบรมให้ความรู้ทางเทคนิคแก่เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีด เกี่ยวกับข้อกำหนดตาม มกษ. 8202-2560 คู่มือการตรวจประเมิน ขั้นตอนการยื่นขอการรับรอง การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานประจำฟาร์ม และการจดบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์มฯ เพื่อให้เกษตรกรมีความพร้อมในการยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดจากกรมปศุสัตว์

       นอกจากนี้ ปัจจุบัน มกอช. ได้ขยายการส่งเสริมให้ความรู้ไปยังเกษตรกรกลุ่มอื่นและเกษตรกรรายย่อยเพื่อส่งเสริมอาชีพเลี้ยงจิ้งหรีดและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และผลกระทบจากภัยแล้งและการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การเปิดตลาดผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดไปเม็กซิโกได้สำเร็จ ถือเป็นก้าวสำคัญของการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมจิ้งหรีดและแมลงกินได้ของไทยเข้าสู่ตลาดมาตรฐานสูงที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความปลอดภัยอาหารตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่มาตรฐานการเพาะเลี้ยง การแปรรูป ไปจนถึงการส่งออก และเป็นใบเบิกทางสำหรับต่อยอด การการขยายตลาดและขอบเขตผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมสำหรับจิ้งหรีดและแมลงประเภทอื่นที่มีศักยภาพเพิ่มเติมไปยังเม็กซิโก ซึ่งเป็นประตูสู่ภูมิภาคละตินอเมริกาที่มีการยอมรับการบริโภคสินค้าแมลงกินได้ในระดับสูง และนำไปสู่การขยายตลาดไปในภูมิภาคอเมริกาเหนือต่อไปได้ในอนาคต” เลขาธิการ มกอช.กล่าว

        สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการท่านใดที่สนใจจะส่งออกจิ้งหรีดไปเม็กซิโก สามารถขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มและขอใบรับรองสุขอนามัยได้ที่ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด กรมปศุสัตว์ หรือสอบถามข้อมูลกฎระเบียบการนำเข้าจิ้งหรีดของเม็กซิโกได้ที่ กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ โทร 02-561-2277 ต่อ 1307 และ 1326