วอนหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มมาตรการเชิงรุกป้องกันโรคเพิร์สในหมูที่ภาคใต้หลังพบระบาด 2 จังหวัด

  •  
  •  
  •  
  •  

ปรีชา กิจถาวร

เกษตรกรเลี้ยงหมูภาคใต้ เร่งยกระดับป้องกันโรคเพิร์สทุกพื้นที่ หลังพบการระบาดในฟาร์มรายย่อยแบบเลี้ยงหลังบ้าน และฟาร์มขนาดเล็ก ที่ จ.สุราษฎร์ธาและพัทลุง  ย้ำไม่ระบาดสู่คน การันตีกินเนื้อหมูที่สุกปลอดภัย วอนหน่วยงานภาครัฐ ให้เพิ่มมาตรการเชิงรุก ด้วยการสุ่มตรวจเชื้อบนรถขนส่งสุกร รวมถึงตรวจชิ้นเนื้อที่โรงเชือดทั้งหมดด้วย

      นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่เลี้ยงสุกรของ อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี กับ อ.บางแก้ว และ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง พบการระบาดของโรค PRRS หรือโรคเพิร์ส โดยเฉพาะในฟาร์มสุกรรายย่อยแบบเลี้ยงหลังบ้าน และฟาร์มขนาดเล็กที่ระบบมาตรฐานการเลี้ยงยังไม่ดีนัก ทำให้สุกรในฟาร์มเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม โรคเพิร์สพบในประเทศไทยมานานกว่า 10 ปี และเกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น โดยถือเป็นโรคที่สำคัญเนื่องจากสร้างความเสียหายให้กับฝูงสุกร หากติดโรคต้องทำลายสุกร ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง สำหรับพื้นที่ที่พบในขณะนี้เจ้าหน้ากรมปศุสัตว์ได้เข้าดำเนินการควบคุมโรคพร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายในฟาร์มและบริเวณโดยรอบ ซึ่งยังอยู่ในรัศมีที่สามารถควบคุมได้

Group of pig that looks healthy in local ASEAN pig farm at livestock. The concept of standardized and clean farming without local diseases or conditions that affect pig growth or fecundity

      “เพิร์สเป็นโรคที่พบเฉพาะในหมู ไม่ติดต่อสู่คน ผู้บริโภคสามารถรับประทานเนื้อหมูปลอดภัยได้ตามปกติเพียงปรุงให้สุก หลีกเลี่ยงการกินสุกๆดิบๆ โดยเกษตรกรทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ยังคงเข้มงวดยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในสุกร ทั้งเพิร์ส และ ASF ที่ไทยยังคงสถานะประเทศปลอดโรคนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกษตรกรภาคใต้อยากให้ภาครัฐเพิ่มมาตรการเชิงรุก ด้วยการสุ่มตรวจเชื้อบนรถขนส่งสุกร รวมถึงตรวจชิ้นเนื้อที่โรงเชือดทั้งหมด ถ้าพบต้องทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อและพักการใช้งาน จนกว่าจะตรวจไม่พบเชื้อ เพื่อการป้องกันโรคอย่างทันท่วงที และขอเน้นย้ำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องให้ความร่วมมือกับทางการในการแจ้งเหตุอย่างเร่งด่วน หากพบหมูป่วยหรือตายผิดปกติ และไม่นำหมูป่วยหรือซากหมูออกขาย เพราะจะทำให้ปัญหายิ่งลุกลาม เท่ากับการเฝ้าระวังและป้องกันโรคที่ทุกคนทำมาตลอดต้องสูญเปล่า” นายปรีชา กล่าว

        ทั้งนี้ ภาคใต้มีการเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ ประมาณ 100,000 ตัว โดย จ.พัทลุง มีการเลี้ยงมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของภาคใต้ และเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ เป็นการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายในพัทลุงเป็นหลัก และส่งไปจำหน่ายยังพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ส่วนจังหวัดที่มีการเลี้ยงรองลงมาคือ จ.นครศรีธรรมราช และจ.สุราษฎร์ธานี