“ประภัตร” ดันสุพรรณบุรีแหล่งผลิตจิ้งหรีดคุณภาพป้อนตลาดโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

“ประภัตร” หรือหาหลายหน่วยงาน เตรียมพลักดันให้สุพรรณบุรี เป็นแหล่งผลิตจิ้งหรีดคุณภาพป้อนตลาดโลก รอจังหวะโควิด -19 คลี่คลาย นำร่องก่อน 200 ราย เบื้องต้นให้รายละ 5 กล่อง ก่อนขยายผลไปในวงกว้างต่อไป

        วันที่ 13 มกราคม 2564 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมหารือร่วมกับ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ภาคเอกชนผู้ผลิต/แปรรูป และจำหน่ายจิ้งหรีด-ผลิตภัณฑ์ (ขวัญใจฟาร์ม และเปี่ยมสุขฟาร์ม) กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น

       ทั้งนี้เพื่อเตรียมการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ กระจายโอกาส และช่วยแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนวางเป้าให้เป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก โดยมีประเด็นสำคัญ คือส่งเสริมให้มีการตั้งฟาร์มมาตรฐาน GAP เพื่อผลิตจิ้งหรีดคุณภาพ นำร่องที่จังหวัดสุพรรณบุรี รวม 200 รายๆ ละ 5 กล่อง ภายหลังการดำเนินงานในระยะแรกจะมีการประเมินเพื่อขยายผลไปในวงกว้างต่อไป โดยคัดเลือกเกษตรกรเป้าหมาย มอบให้นายกเทศบาลตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ

       สำหรับด้านระบบงานส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด มอบหมายกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เป็นผู้ประสานงานที่ส่วนกลาง และให้ “ขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม” เป็นผู้รับซื้อผลผลิตในราคาประกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตลอดจนมอบให้ มกอช. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ให้คำแนะนำด้านการจัดทำมาตรฐานฟาร์ม GAP แก่เกษตรกร และให้กรมปศุสัตว์

        โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ คิดสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นราคาถูก มาผสมอาหารสัตว์ใช้เองนำไปเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตของสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ด้วย

        “เราได้มีการประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรให้มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้ โดยเตรียมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยนเรศวรยินดีให้คำแนะนำและพร้อมสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) คลี่คลายแล้ว พร้อมเดินหน้าเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม” นายประภัตร กล่าว