ดันไทย “ฮับโปรตีนแมลงโลก” หวังแย่งส่วนแบ่งตลาดมูล่าเกือบ 4 หมื่นล้านในอีก 3 ปีข้างหน้า

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                                                       อลงกรณ์ พลบุตร

“อลงกรณ์” เผย รมว.เกษตรฯ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” ตั้งเป้าเนรมิตไทย “ฮับโปรตีนแมลงโลก”  เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีด พร้อมจับมือเครือข่ายมหาวิทยาลัยตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง” หวังหนุน 20,000 ฟาร์มเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารใหม่ ดันสตาร์ทอัพเกษตร เจาะตลาดโลกคาดจะมีมูลค่า37,900 ล้านบาทในปี 2023

       วันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 เปิดเผยว่า  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดนโยบายและตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตโปรตีนจากแมลงหรือ “ฮับแมลงโลก” จึงมีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ โดยได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด เร่งส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งมีกว่า20,000ฟาร์ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

   

    นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า นโยบายดังกล่าวสอดรับกับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอ (FAO:Food and Agriculture Organization)ที่ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก”โดยFAO คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลกซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 15 ปีข้างหน้า การสนับสนุนการบริโภคโปรตีนจากแมลงจึงเป็นหนึ่งในแนวทางในการรับมือกับอาหารในอนาคตที่ดีที่สุดซึ่งผลการวิจัยเรื่องอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอาหารใหม่ (Novel Food) พบว่า “แมลง” มีสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งแคลเซียม ซิงค์ วิตามินบี 2 บี 12 ในปริมาณสูง มี โอเมกา 3 6 9 รวมทั้งไฟเบอร์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์จากสัตว์เพียงชนิดเดียว ช่วยปรับสมดุลในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายอีกกว่า 10 ชนิด

         สำหรับแมลงที่มีอยู่นับล้านชนิด “จิ้งหรีด” เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด และข้อมูลจากบริษัท Research and Markets ระบุว่าตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตระหว่างปี 2018-2023 คิดแบบ Compound Annual Growth Rate (CAGR) ที่ร้อยละ 23.8 และคาดว่าในปี 2023 ตลาดจะมีขนาด 37,900 ล้านบาท โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนถึง 30-40% ของทั้งโลก ที่เหลือกระจายตัวอยู่ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกาและอเมริกาเหนือ ซึ่งจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารอย่างน้อย 194 ชนิด เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง ตั๊กแตน หนอน และดักแด้ไหม ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก

      ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า โปรตีนจากแมลงจัดเป็นซูเปอร์ฟู้ด(Super Food)และเป็นอาหารแห่งอนาคต(Future Food)ที่ต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตการแปรรูปและการตลาดรวมทั้งส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ทั้งนี้จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์เทคโนโลยีแมลง”ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(AIC:Agritech and Innovation Center)โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับอีกอย่างน้อย4 มหาวิทยาลัยได้แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งแบบสด แช่แข็ง ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมถึงทำเป็นผงบด เพื่อเป็นส่วนผสมในการทำเบเกอรี่ และแปรรูปเป็นแป้งจำพวกเส้นพาสต้า โปรตีนบาร์ ผงแป้ง ขนมขบเคี้ยว และprotein shakes

      ขณะที่กลุ่มประเทศ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา เอเชียตะวันออก ละตินอเมริกา แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างให้ความสนใจต่อการบริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค มกอช.ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป

            นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ปัจจุบันมีแปลงใหญ่จิ้งหรีดทั้งหมดจำนวน 11 แปลง เกษตรกรสมาชิก469 ราย พื้นที่รวมประมาณ 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ลพบุรี สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย โดยมีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.1 พันตันรวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรที่สนใจเพื่อยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด ส่งเสริมให้เกษตรกรไทยหันมาเลี้ยงจิ้งหรีด ทั้งสายพันธุ์ทองดำ ทองแดง และสะดิ้ง เพื่อสร้างทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในยุคโควิดซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตจิ้งหรีดรวมมากกว่า 7,000 ตันต่อปี และสามารถป้อนตลาดภายในและต่างประเทศ รวมทั้งกรมหม่อนไหมได้ส่งเสริมเกษตรกรหม่อนไหมกว่า20,000รายในการพัฒนาดักแด้ไหมเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มาแรงเป็นที่ต้องการอย่างมากในขณะนี้

            ที่สำคัญ  ประเทศไทยมีบริษัทสตาร์อัพของคนไทยที่ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์ผงโปรตีนจากจิ้งหรีดเป็นรายแรกๆของโลก ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และมีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับการแปรรูปแมลงทยอยเกิดขึ้นตามมา แมลงถือเป็น Super food มีสารอาหารสูง ในต่างประเทศมีการแปรรูปเพื่อนำไปใช้ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นส่วนผสมในยา ทำเป็นผงแป้งผสมในขนมกรุบกรอบหรืออาหาร แม้แต่เครื่องสำอางค์และอาหารเสริม ฯลฯซึ่งกระทรวงเกษตรสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานเน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมทำการตลาดแบบไฮบริดทั้งออฟไลน์และออนไลน์โดยขณะนี้มีการจำหน่ายบนตลาดออนไลน์เช่นShopee Lazada ฯลฯ

            “ปัจจุบันมีบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติลงทุนทำฟาร์มเพาะเลี้ยงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางและตั้งโรงงานแปรรูปแมลงเพื่อส่งออกมีแบรนด์ของตัวเองเช่นแบรนด์ ProteGoผงโปรตีนจากจิ้งหรีด (Cricket Powder)ที่ขอนแก่น และบริษัท คริกเกท แลบ จำกัด ตั้งอยู่ที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เป็นฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและยังเป็นโรงงานผู้ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีดตามมาตรฐานยุโรปเช่นเดียวกับบริษัทโกลบอล บั๊คที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่มีอนาคตและตอบโจทย์ความต้องการโปรตีนรูปแบบใหม่ที่มีโภชนาการสูงประเภทอาหารใหม่(Novel Food)ของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ”นายอลงกรณ์ กล่าว