“ประภัตร” เดินสายขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ที่เมืองดอกคูน รวมถึงการปลูกพืชใช้น้ำน้อยหลังทำนา แนะ 6 อาชีพให้เกษตรกรเลือก “เลี้ยงสัตว์-ปลูกถั่วเขียว-ปลูกขิง-หญ้าเนเปียร์ ข้าวโพด มันสำปะหลัง-เลี้ยงแหนแดง-จิ้งหรีด” เผยอาชีพการเลี้ยงโคขุนกู้วิกฤตโควิด ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงโคบ้านหนองน้ำขุ่นเหนือ ต.บ้านหัน อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ว่า จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรจำนวน 86,025 ราย มีโคเนื้อ 213,704 ตัว โคนม 36,851 ตัว กระบือ 34,731 ตัว สุกร 239,932 ตัว ไก่ 6,081,462 ตัว เป็ด561,601 ตัว แพะ 15,313 ตัว แกะ 157 ตัว ปลูกพืชอาหารสัตว์ 4,494 ไร่ ซึ่ง จ.ขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการประชาสัมพันธ์โครงการสู่เกษตรกรไปแล้วจำนวน 258 กลุ่ม มีกลุ่มที่ยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการพร้อมส่งแผนธุรกิจจำนวน 145 กลุ่ม ได้รับการเห็นชอบแผนธุรกิจแล้ว 41 กลุ่ม แบ่งเป็น 1. โคเนื้อ 33 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 93.4 ล้านบาท 2. โคนม 2 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 12 ล้านบาท 3. แพะ 2 กลุ่มวงเงินสินเชื่อธุรกิจ 4.8 ล้านบาท 4. กระบือ 2 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 2 ล้านบาท และ 5 ไก่เนื้อ วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 1.8 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อธุรกิจแล้วรวมทั้งหมด 4 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 16 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการอนุมัติสินเชื่อรวม 37 กลุ่ม วงเงินสินเชื่อธุรกิจ 98 ล้านบาท ในการนี้ รมช.เกษตรฯ ได้มอบสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย จำนวนรวม 3 ล้านบาท ให้กับวิสาหกิจชุมชนโคขุนบ้านหนองน้ำขุ่นเหนือ หมู่ 16 และหมู่ 8 ต.บ้านหันอ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น
นายประภัตร กล่าวอีกว่า วันนี้เกษตรกรทุกคนตื่นตัวในการเลี้ยงวัวและให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากการเก็บเกี่ยวในฤดูนี้แล้ว เกษตรกรต้องหาอาชีพทางเลือกเพื่อให้มีรายได้ โดยเมื่อวันที่ 7 ต.ค.63 ได้มอบนโยบายให้กับหน่วยงานในสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร 6 ทางเลือก ได้แก่ 1. เลี้ยงสัตว์ (วัว แพะ แกะ ไก่ หมู กระบือ) 2. ปลูกถั่วเขียวใช้น้ำน้อย 3. ปลูกขิง 4. หญ้าเนเปียร์ ข้าวโพด มันสำปะหลัง (เพื่อผลิตอาหารสัตว์) 5. แหนแดง และ 6. เลี้ยงจิ้งหรีด โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อน
“กระทรวงเกษตรฯ ขอเชิญชวนเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ต้องจดวิสาหกิจชุมชน 7 คนขึ้นไป และเลือกเมนูอาชีพที่สนใจ ซึ่งแต่ละอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เช่น จิ้งหรีด มีการส่งออกปีละกว่า 1,000 ล้านบาทนอกจากนี้ ยังลดต้นทุนอาหาร โดยการส่งเสริมปลูกพืชอาหารสัตว์ ซึ่งมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการจัดทำอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำให้กับเกษตรกร ใช้อาหารผสมสำเร็จรูปตามอัตราส่วน TMR โดยใช้วัตถุดิบภายในพื้นที่ ขณะนี้กรมปศุสัตว์โดย ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ทั่วประเทศได้เร่งคิดสูตรอาหารที่มีประสิทธิภาพและต้องมีต้นทุนไม่เกิน 4 บาท/กก.” นายประภัตร กล่าว