ดัน โครงการ”สุนัขชุมชน” แก้ปัญหาหมาจรจัด

  •  
  •  
  •  
  •  

น.สพ.สรวิศ ธานีโต

กรมปศุสัตว์ ปิ๊งไอเดียวิธีการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดในรูปแบบ “สุนัขชุมชน”  ระบุชุมชนให้การยอมรับ และให้มีคนในชุมชนช่วยการดูแล ต้องลงทะเบียนประวัติสุนัข ฝังไมโครชิพ ตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน ทำหมันโดยมีกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการจะให้การส่งเสริมโครงการ หวังก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างยั่งยืน

      นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สุนัขชุมชนเป็นหนทางหนึ่งสู่การแก้ปัญหา “สุนัข-จรจัด” ให้เข้ากับบริบทของชุมชนในประเทศไทยโดยสุนัขต้องเป็นสุนัขจรจัดที่อาศัยในชุมชนและชุมชนให้การยอมรับ โดยมีคนในชุมชนช่วยการดูแล การดำเนินการโครงการสุนัขชุมชนจึงควรมีกระบวนการ คือ การลงทะเบียนประวัติสุนัข การฝัง ไมโครชิพหรือทำเครื่องหมายประจำตัว การตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐาน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การสวมปลอกคอระบุพฤติกรรมสุนัข การกำจัดเห็บหมัดและถ่ายพยาธิ และการผ่าตัดทำหมันเพื่อควบคุมประชากร เป็นต้น กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการจะให้การส่งเสริมโครงการสุนัขชุมชนเพื่อเป็นการสามารถแก้ปัญหาสุนัขจรจัดได้อย่างยั่งยืน

       นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า สุนัขจรจัดอยู่กับสังคมไทยมาช้านาน มีการกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในหลายรูปแบบเพื่อให้สุนัขจรจัดได้หมดไปจากสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้จึงจัดแบ่งประเภทของสุนัขจรจัดในประเทศไทยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ สุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของและไม่มีคนดูแล และสุนัขกึ่งจรจัดซึ่งเป็นสุนัขที่อยู่ตามวัดหรือชุมชน มีคนให้อาหารและคอยดูแลบ้าง อาจมีการตั้งชื่อให้และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคน

        สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดวิธีหนึ่ง คือ “สุนัขชุมชน” ซึ่งต้องเป็นสุนัขกึ่งจรจัดที่อาศัยในชุมชนและชุมชนให้การยอมรับ โดยมีอาสาสมัครในชุมชนช่วยการดูแลเรื่องความเป็นอยู่ อาหาร สุขภาพ และสวัสดิภาพของสุนัข โดยทั่วไปคนในชุมชนจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มคนรักสุนัข กลุ่มที่สองคือกลุ่มคนไม่ชอบหรือกลัวสุนัข และกลุ่มที่สามคือกลุ่มคนที่ไม่รักและไม่รังเกียจสุนัข

       ดังนั้น กลุ่มคนรักสุนัขจึงมักเป็นแกนหลักที่สร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีให้ในชุมชน โดยจุดเริ่มต้นต้องเกิดจากคนในชุมชนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาสุนัขจรจัดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปได้อย่างทันที เนื่องจากปัญหาสุนัขจรจัดเป็นปัญหาที่เกิดจากที่ยังมีการทอดทิ้งสุนัขและสภาพวัฒนธรรมไทยที่คนมีความเมตตาต่อสัตว์ และรัฐไม่สามารถกำจัดสุนัขจรจัดได้ในทันที

      การดำเนินการโครงการสุนัขชุมชนในประเทศไทยได้มีโครงการสุนัขชุมชนที่ได้มีการยอมรับของชุมชน ได้แก่ โครงการสุนัขชุมชนตลาด- แม่กลอง และโครงการจัดการปัญหาสุนัขในเขตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบบมีส่วนร่วมจากชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ MaCMU Project

         อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดในรูปแบบสุนัขชุมชน จะทำให้สุนัขจรจัดมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้น มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นที่ยอมรับของชุมชน ชุมชนที่มีความเข้าใจในการจัดการสุนัขชุมชนเป็นรูปธรรมจะทำให้ชุมชนปลอดภัยจากสุนัขจรจัดได้อีกด้วย ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะเป็นหน่วยงานส่งเสริมให้กับชุมชนที่จัดทำโครงการสุนัขชุมชนในเรื่อง การทำหมัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมไปถึงการส่งเสริมให้สุนัขชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นโดยการสามารถเข้ารับบริการกับสถานพยาบาลสัตว์ของกรมปศุสัตว์ (ส่วนภูมิภาค) จำนวน 40 แห่งทั่วประเทศ และสถานพยาบาลสัตว์ของ กรมปศุสัตว์ (ส่วนกลาง : หน่วยสัตวรักษ์ กลุ่มสัตวแพทย์บริการ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ จังหวัดปทุมธานี ) จำนวน 1 แห่ง