มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท ไบเออร์ไทย ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง “Bee Learning Center” แห่งแรกของเอเชีย เปิดอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เน้นให้ความรู้ และรู้จักเกี่ยวกับผึ้งในทุกมิติของแมลงผสมเกสร สร้างเครือข่าย และส่งเสริมการอนุรักษ์ผึ้ง ผ่านกิจกรรมตลอดปี
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทไบเออร์ไทย และ ไบเออร์ เอจี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Bayer AG, Germany) จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง หรือ Bee Learning Center ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแห่งแรกของเอเชีย โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากผึ้งอย่างยั่งยืน และให้ความรู้แก่บุคคลทุกช่วงวัยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำความรู้จักเกี่ยวกับผึ้งใน ทุกมิติของแมลงผสมเกสร และช่วยกันอนุรักษ์ผึ้งให้คงอยู่ในระบบนิเวศเพื่อสร้างการเกษตรที่ยั่งยืน ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารตลอดจนเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่มีบทบาทหน้าที่การทำงานที่เกี่ยวกับผึ้งทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมาได้มีพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง ณ บริเวณอาคารวิจัยกีฎวิทยา ด้านถนนวิภาวดีรังสิต (อยู่ในพื้นที่ด้านหลังของสวนกล้วยไม้ระพีสาคริก) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับเปิดตัวโครงการ “ Feed city bees “ เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสวนต้นแบบในเมืองให้เป็นแหล่งน้ำหวานและเกสรสำหรับแมลงในกลุ่มผึ้ง และกิจกรรมพิเศษเนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2563
พิธีเปิดศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ลดาวัลย์ พวงจิตร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ที่ 2 จากซ้าย) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.สุตเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร (ซ้าย) Mr. Ricky Ki Leung Ho, Senior Executive of Regulatory Science Asia Pacific (ที่ 3 จากซ้าย), นายวีรพล เจริญพานิช ผู้บริหารประจำประเทศไทยและเวียดนาม แผนกครอปซายน์ (ขวา) ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ภายในงานมีการมอบรางวัลจากการประกวดภาพถ่าย ผึ้ง……รู้จักรักเลย Bee Learning, Bee Lover รางวัลการออกแบบ Architecture Student BEE DESIGN Competition Workshop และเยี่ยมชมนิทรรศการที่จัดขึ้นภายในอาคารศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง
ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง หรือ Bee Learning Center ภายใต้ความดูแลของภาควิชา กีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ที่ บริเวณอาคารวิจัยกีฎวิทยา ด้านถนนวิภาวดีรังสิต (อยู่ในพื้นที่ด้านหลังของสวนกล้วยไม้ระพีสาคริก) ออกแบบอาคาร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรนาถ สินอุไรพันธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาคารสถาปัตยกรรมร่วมสมัย รูปทรงอาคารเหมือนกับฟาร์มของเกษตรกร สร้างเป็นอาคารชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัด และยกพื้นเพื่อให้มีพื้นที่ชาน/ระเบียงใช้สอย มีบานประตูบานใหญ่เปิดได้รอบทั้ง 3 ด้านของอาคาร สามารถใช้งานแบบเปิดโล่ง (open air) ได้ ส่วนหลังคาทำช่องแสงธรรมชาติ เพื่อประหยัดพลังงาน นอกจากนี้พื้นที่ใช้สอยสามารถยืดหยุ่นเข้าได้กับทุกกิจกรรม ทั้งการเยี่ยมชมศูนย์ฯ การอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชุมขนาดเล็ก และเป็นสถานที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้เกี่ยวกับผึ้ง
อาคารศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง มีพื้นที่ใช้สอยอาคารรวมระเบียง 145.10 ตารางเมตร พื้นที่บริเวณโดยรอบอาคาร ประมาณ 1,454.9 ตารางเมตร แบ่งออกเป็นพื้นที่ภายในอาคาร จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผึ้ง (Bees Exhibition) เริ่มจาก นิทรรศการที่มาของศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง นิทรรศการความสำคัญของผึ้ง โดยอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า “ถ้าผึ้งหายไปจากโลก มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 4 ปี”
นิทรรศการที่สุดของผึ้ง : พบกับ ผึ้งที่ตัวใหญ่ที่สุด ผึ้งที่ตัวเล็กที่สุด จัดแสดงในแบบรูปถ่าย และผึ้งที่มีรังขนาดใหญ่ที่สุด ผึ้งที่เดินทางไกลที่สุด และผึ้งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด จัดแสดงผึ้งทั้งแบบแห้งและตัวจริง นิทรรศการความหลากหลายของผึ้ง จัดแสดงผึ้งในประเทศไทย ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่าเรียกว่าผึ้ง ยกตัวอย่าง เช่น ผึ้งรวง ชันโรง ผึ้งหึ่ง แมลงภู่ ผึ้งเจาะหลอดไม้ ผึ้งกัดใบ โดยผึ้งทั่วโลกมีรายงานมากกว่า 20,000 ชนิด
นิทรรศการชีววิทยาของผึ้ง เรียนรู้ในเรื่องของวรรณะผึ้ง วงจรชีวิต พฤติกรรมของผึ้ง เช่น การเต้นรำเพื่อบอกทิศทางแหล่งอาหารผึ้ง พร้อมทั้งมีรังและผึ้งจริง ๆ สำหรับศึกษาพฤติกรรมของผึ้ง นิทรรศการการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลี้ยงผึ้ง และอุปกรณ์ที่สำคัญในการเลี้ยงผึ้ง นิทรรศการระบบนิเวศที่ผึ้งอยู่อาศัย ภาพแสดงลักษณะการสร้างรังของผึ้งที่มีความหลากหลายรูปแบบ ทั้งทำรังบนต้นไม้ ในโพรงไม้ ใต้ดิน หรือในกิ่งไม้แห้ง นิทรรศการบทบาทของผึ้งช่วยผสมเกสรที่สำคัญ นิทรรศการการอนุรักษ์ผึ้งให้คงอยู่ในระบบนิเวศ เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน คือ การเพิ่มอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในการสร้างรัง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณผึ้งในระบบนิเวศผ่านโครงการ Feed city bees การเพิ่มพืชอาหารผึ้งในสังคมเมืองได้โดยการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวเพื่อให้ทุกบ้านปลูกไว้กินแล้วปล่อยให้ออกดอกบ้าง เช่น ผักกวางตุ้ง กะเพรา หรือโหระพา เป็นพืชที่ให้น้ำหวานและเกสรผึ้งในเมือง
พื้นที่ภายนอกอาคาร แบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ดังนี้ โซนที่ 1: จัดแสดงแกลอรี่ ผลงานโครงการประกวดภาพถ่าย ผึ้ง……รู้จักรักเลย: bee learning, bee lover (เฉพาะวันเปิดงาน) โซนที่ 2: ลานกิจกรรมสำหรับเด็กและผู้ปกครอง เรียนรู้เรื่องการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารแก่ผึ้ง ในโครงการ Feed city bees และ Bee Little Scientist การเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งด้วยรังจำลอง โซนที่ 3 : จุดตั้งรังผึ้งพันธุ์ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของผึ้งและการเลี้ยงผึ้งเชิงอุตสาหกรรม โซนที่ 4: จุดตั้งรังชันโรง เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของชันโรงและการเลี้ยงชันโรง โซนที่ 5 : ลานพืชผักสวนครัว และ โซนที่ 6 : ลานพืชไม้ประดับ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของผึ้ง เช่น การเก็บน้ำหวาน และเกสร
ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง (Bee Learning Center) เปิดทำการทุกวันยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. และทุกวันพุธ เวลา 9.00-10.00 น.จัดกิจกรรมสาธิตการเลี้ยงผึ้ง สำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ติดตามได้ในปฏิทิน ศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับผึ้ง (Bee Learning Center) Fackbook: Bee learning หรือ เวปไซต์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์