ในที่สุดการประชมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เห็นชอบการทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน ตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 และให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั่นเอง
ทั้งนี้นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 พิจารณาให้ความเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2561 เรื่อง การทบทวนระบบบริหารจัดการนมโรงเรียน และให้ใช้แนวทางการปฏิรูประบบบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) การปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหาร ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการ โดยแยกโครงสร้างการบริหารออกจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ตาม พรบ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2551
เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ร่วมเป็นกรรมการ ทั้งนี้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้นมาใหม่ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ แทนผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งภายใต้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนจะมีคณะอนุกรรมการรับผิดชอบภารกิจต่าง ๆ คือ คณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน คณะอนุกรรมการรณรงค์บริโภคนมในสถาบันการศึกษาทุกระดับ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ (5 กลุ่ม) และคณะอนุกรรมการอื่น ๆ ที่จำเป็น
2) ให้ อ.ส.ค. ทำหน้าที่แทนองค์กรกลางระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย เช่นเดิม แต่ให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระบบ Big Data มาใช้บริหารจัดการนมทั้งระบบ 3) ให้งบประมาณกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและหน่วยจัดซื้อเช่นเดิม แต่ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบบริหารจัดการ ไม่น้อยกว่า 3% ของงบนมโรงเรียนทั้งหมดให้กรมปศุสัตว์และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง 4) ให้ท้องถิ่นและหน่วยงานที่ได้รับงบจัดซื้อนมโรงเรียน จัดซื้อจาก อ.ส.ค. โดยวิธีกรณีพิเศษเช่นเดิม ซึ่งปัจจุบันเรียนว่า วิธีเฉพาะเจาะจง ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 5) ให้ผู้ประกอบการทำประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability Insurance) เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคมีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และ 6) การปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการ มีหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโดยให้ยึดหลัก ดังนี้
ปริมาณน้ำนมดิบตามพันธสัญญาที่มีผลบังคับใช้กฎหมาย คุณภาพนมดิบและนมโรงเรียน ศักยภาพการผลิต/การตลาด ระบบโลจิสติกส์/การขนส่ง ประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมา และความรับผิดชอบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยให้ความสำคัญกับผู้มีศูนย์รวบรวมน้ำนมโคเป็นของตนเอง หรือมีแผนการตลาดรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี และรับผิดชอบตลอด 365 วัน ทั้งนี้ ในรายละเอียดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการฯ กำหนด
นอกจากนี้ เกษตรกร/ศูนย์รวมนม/ผู้ประกอบการ ต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น 3 ระบบ คือ ระบบทะเบียนฟาร์ม ระบบซื้อขาย และระบบตรวจสอบย้อนกลับ อีกทั้งยังต้องให้ความสำคัญในคุณภาพมาตรฐานนมโรงเรียนให้มีมาตรฐานตามเกณฑ์ อ.ย. เพิ่มความเข้มงวดการติดตามตรวจสอบคุณภาพนมโรงเรียนในระดับพื้นที่ และพัฒนารูปแบบนมโรงเรียนและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์นมเพิ่มสารอาหารจำเป็น และบรรจุภัณฑ์ Milk in box dispenser รวมถึงการพิจารณาบทลงโทษที่ลดผลกระทบต่อเกษตรกร เช่น เรียกเบี้ยปรับ เป็นต้น ด้วย