สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยมือกับกรมวิชาการเกษตร-กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมลุย 3 แผนงานหลักในปี 2562 “ผึ้งปลอดภัย-อบรมความรู้เกษตรกรด้านการใช้ปัจจัยการผลิต-ตรวจเข้มปัจจัยการผลิตปลอม” เน้นให้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง และมีความปลอดภัยสูง
ดร.วรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไททา) เปิดเผยถึงพันธกิจสำคัญของ ไททา ว่า จะมุ่งเน้นพัฒนาความรู้เกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตอย่างน้อย ร้อยละ 30 ใช้ทรัพยากรน้อยลงแต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ใช้ต้นทุนน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ปี พ.ศ. 2562 ประกอบด้วย 3 แผนงานหลัก ได้แก่ โครงการผึ้งปลอดภัย โครงการอบรมความรู้เกษตรกรด้านการใช้ปัจจัยการผลิตอย่างถูกต้อง และโครงการตรวจเข้มปัจจัยการผลิตปลอม
โครงการ ผึ้งปลอดภัย เป็นการส่งเสริมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเพื่อให้การอยู่ร่วมกันของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกับเกษตรกรชาวสวนผลไม้เป็นไปอย่างสมานสามัคคี อีกทั้งยังผลในการเพิ่มผลผลิตและผึ้งปลอดภัย ผลผลิตที่ได้ไม่ว่าจะเป็นผลไม้หรือน้ำผึ้งจะมีคุณภาพดีขึ้น ผลผลิตสูงขึ้นและที่สำคัญที่สุดคือมีความปลอดภัยสูง ผึ้งหรือแมลงผสมเกสรอื่นๆ มีบทบาทสำคัญสำหรับการผสมเกสรของพืช ช่วยสร้างและเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร
ทั้งนี้ น้ำผึ้งคุณภาพสูง ปลอดสารเคมี เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน น้ำผึ้งของไทย ประสบปัญหาเรื่องคุณภาพ และปริมาณการผลิต เตรียมประสานงานกับกรมวิชาการเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและเกษตรกรสวนผลไม้จำนวน 100 คู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แพร่ น่าน และจันทบุรี สามารถทำการเกษตรของตนร่วมกันอย่างสมานสามัคคีนำผลผลิตปลอดภัยสู่ตลาดไทยและต่างประเทศ
การส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรให้ลดต้นทุนการผลิต ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น นอกจากการบริหารจัดการที่ดี เช่น ปลูกพืชเหมาะสมกับสภาพดิน หรือแหล่งน้ำเพียงพอแล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งจะต้องมีคุณภาพ เกษตรนำมาใช้ในอัตราส่วนที่ถูกต้อง เหมาะสมกับพืช
ดังนั้น โครงการอบรมความรู้เกษตรกรด้านการใช้ปัจจัยการผลิต จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ โครงการตรวจเข้มปัจจัยการผลิตปลอม ทั้งสองโครงการ เป็นการประสานความร่วมมือกับ กรมวิชาการเกษตร ในการอบรมความรู้และฝึกปฏิบัติให้เกษตรกรให้สามารถใช้ ปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพต่อเกษตรกร ผู้บริโภค
ตั้งเป้าพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อไปต่อยอดอบรมเกษตรกร ในแนวคิด Train the Trainer คาดว่าจะผลิต Trainer ได้มากถึง 1,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้ง ร่วมดำเนินการและผลักดันบทบาท สารวัตรเกษตร ให้มีความเข้มข้นและจริงจัง เพื่อตรวจสอบปัจจัยการผลิตตามร้านค้าและสถานประกอบการ และหากพบ ปุ๋ย และสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีการปลอมแปลง หมดอายุ หลบเลี่ยงกฎหมาย ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ทั้งหมดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของ ไททา ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เป็นหนึ่งในองค์กรสนับสนุนความรู้ทางวิชาการและบุคคลากรในกิจกรรมต่าง ๆ ด้านการฝึกอบรมและการเผยแพร่ความรู้สู่เกษตรกร และเชื่อมั่นว่า แผนการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2562 จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีผ่านความร่วมมือและสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเกษตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายระดับประเทศตามยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ของไทยที่ว่า “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” ดร. วรณิกา กล่าว