อนาคต “ไก่เบตง” :อนาคตคุณภาพชีวิต 3 จว.ชายแดนใต้

  •  
  •  
  •  
  •  

หากจะพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาชีพ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ภายใต้โมเดล “การพัฒนาเมืองต้นแบบ จชต.” ซึ่งการพัฒนาด้านปศุสัตว์นับได้ว่าเป็นประเด็นหนึ่งสำคัญของการพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะ “การเลี้ยงไก่เบตง” เพราะไก่เบตง เป็นไก่ที่มีความจำเพาะเป็นที่ยอมรับทั้งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ด้วยมีคุณภาพเนื้อนุ่ม ไขมันต่ำ หนังหนึบ และกลิ่นหอม ไก่เบตงจึงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญ

แต่การทำให้ไก่เบตงมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อการรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมชายแดนใต้ได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาในหลายๆ ด้านโดยเฉพาะด้านการเลี้ยง ที่ผู้เลี้ยงยังประสบปัญหาหลายประการ อาทิ ขาดแคลนไก่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์แท้สำหรับการขยายฝูงให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไก่เบตงมีพฤติกรรมไม่ฟักไข่และชอบจิกกินไข่ตัวเอง ฯลฯ ที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของไก่เบตงโดยตรง

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ อาจารย์ภาควิชาสัตวศาสตร์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะ จึงได้ทำโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตไก่เบตง และพัฒนากลไกการจัดการเชิงพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไก่เบตง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบาย 3 เมืองต้นแบบจังหวัดชายแดนภาคใต้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ “เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่เบตงที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการเลี้ยงในจังหวัดชายแดนใต้

จากการศึกษาศักยภาพการผลิตไก่เบตงและโอกาสทางการตลาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ พบว่าในพื้นที่ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส มีรูปแบบการเลี้ยงแบบกึ่งขังกึ่งปล่อยเพียงรูปแบบเดียว โดยระยะเวลาในการเลี้ยงมี 2 แบบคือ 16-18 สัปดาห์ และ20-24 สัปดาห์ โดยกลุ่มที่เลี้ยง 16-18 สัปดาห์ เป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงไก่เบตงจากโครงการเครือข่ายไก่เบตงประชารัฐ เพื่อให้ได้ไก่น้ำหนักตัวเมีย 1.7-2.0 กก.ตัวผู้ 2.0-2.2 ส่วนกลุ่มที่เลี้ยง 20-24 สัปดาห์ พบว่าเป็นการเลี้ยงที่พบอยู่ทั่วไปในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ทีมวิจัยจึงจำลองรูปแบบการเลี้ยง 4 รูปแบบ คือ เลี้ยงแบบขังคอกตลอดระยะเลี้ยง, เลี้ยงปล่อยขังคอกในโรงเรือนในระยะลูกไก่ 0-4 สัปดาห์ ระยะไก่เล็ก 5-8 และระยะไก่รุ่น 9-22 สัปดาห์ เลี้ยงปล่อยพื้นขังคอกในโรงเรือนและมีลานปล่อย 1 ตัว/ตารางเมตร , เลี้ยงแบบปล่อยพื้นขังคอกในโรงเรือนระยะลูกไก่ 0-4 สัปดาห์ สำหรับระยะไก่เล็ก 5-8 และระยะไก่รุ่น 9-22 สัปดาห์ เลี้ยงปล่อยพื้นขังคอกในโรงเรือนและมีบานปล่อย 2 ตัว/ตร.ม.  และเลี้ยงปล่อยพื้นขังคอกในโรงเรือนระยะลูกไก่ 0-4 สัปดาห์ ระยะไก่เล็ก 5-8 สัปดาห์ สำหรับระยะไก่รุ่น 9-22 สัปดาห์ เลี้ยงปล่อยพื้นขังคอกในโรงเรือนและมีลานปล่อย 2 ตัว/ตร.ม.

จากการศึกษาพบว่า ไก่เบตงทั้ง 4 รูปแบบการเลี้ยง พบว่ารูปแบบการเลี้ยงขังคอก/ปล่อยอายุ 4 สัปดาห์ (2 ตัว/ตร.ม.) เป็นวิธีการเลี้ยงที่เหมาะสมและสะดวกในการจัดการของเกษตรกร เพราะช่วงที่ปล่อยไก่ในแปลงหญ้าเกษตรกรมีเวลาในการจัดการเรื่องความสะอาดของอุปกรณ์เลี้ยงไก่ โรงเรือน มีผลดีต่อสุขภาพไก่มากกว่าการขังในโรงเรือนตลอดเวลา
ในส่วนของมต้นทุนค่าอาหารไก่นั้น พบว่าปริมาณอาหารที่กินในช่วงอายุ 21-24 สัปดาห์จะเพิ่มขึ้น .49 4.08 19.35 และ 0.52% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงอายุ 17–20 สัปดาห์ ขณะที่ค่าน้ำหนักตัวเพิ่มต่ออัตราการเจริญเติบโตต่อวัน (ADG) ของไก่เบตงช่วงอายุ 21-24 สัปดาห์ก็ต่ำกว่าช่วงอายุอื่น

นั่นคือในช่วงอายุนี้ ต้นทุนค่าอาหารจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้จากของตัวไก่ที่เพิ่มขึ้น โดยต้นทุนค่าอาหารสะสมบวกค่าลูกไก่ ที่อายุ 16 สัปดาห์ เท่ากับ146บาท/ตัว ขณะที่ต้นทุนค่าอาหารสะสมบวกค่าลูกไก่เมื่อเลี้ยง 24 สัปดาห์ เท่ากับ225บาท/ตัว แต่แม้การเลี้ยงไก่ไป 24 สัปดาห์จะมีต้นทุนเฉลี่ยค่าอาหารสูงกว่าการขายไก่เบตงอายุ 16 สัปดาห์ ไก่ 24 สัปดาห์ก็ยังเป็นที่นิยมมากกว่าและขายได้ราคาดีกว่าไก่อายุ 16 สัปดาห์

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.
กล่าวว่า วันนี้ตลาดขยายไปมาก ความต้องการไก่เบตงสูงมาก มีโมเดิร์นเทรดรายหนึ่งเปิดออร์เดอร์มาไม่จำกัด แต่เราผลิตให้เขาไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือผู้เลี้ยงไก่ที่เก่งและมีความพร้อมในการเลี้ยง ซึ่งอยากให้งานวิจัยนี้สร้างมาตรฐานการเลี้ยงไก่เบตง โดยเฉพาะการเลี้ยงของชาวบ้าน เพื่อให้ได้ไก่เบตงพรีเมี่ยมเกรด ราคาสูง ที่คุณภาพเป็นที่ยอมรับ

นับจากนี้นักวิจัยจะจัดทำเวทีคืนข้อมูลและระดมความเห็นต่อผลที่ได้จากงานวิจัย ทำวิจัยร่วมกับเกษตรกรเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง รวมทั้งจัดทำคู่มือการเลี้ยงไก่บตงและจะทำการทดสอบคู่มือร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อไปการทำการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตไก่เบตงครั้งนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกความร่วมมือที่สามารถพัฒนาแผนและโครงการพัฒนาพื้นที่จากข้อมูลงานวิจัย เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรนำชุดความรู้ไปใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรทั้งห่วงโซ่ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น