พิษร้าย…สารเร่งเนื้อแดง

  •  
  •  
  •  
  •  

 

ตั้งแต่ต้นปี 2561 กรมปศุสัตว์ สามารถตรวจจับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่ฟาร์มเลี้ยงและโรงฆ่าสัตว์รวม 127 รายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ศาลพิพากษาแล้ว 38 ราย..นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2546 นับแต่ประเทศไทยประกาศให้สารเร่งเนื้อแดงเป็นสารเคมีภัณฑ์ต้องห้าม
สารเร่งเนื้อแดงอันตรายอย่างไร อ.ประหยัด ทิราวงศ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อธิบาย สารตัวนี้ถูกลักลอบนำใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต เพราะสารตัวนี้ทำให้หมูกินอาหารน้อยลงแต่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หมูกินอาหารน้อยลง 20 กก. แต่จะโตเร็วขึ้น 4 วัน ทำให้หมูจะมีรูปร่างกำยำ มีกล้ามเนื้อเป็นมัด ไขมันน้อย มีเนื้อแดงมาก
เพราะเป็นสารมีฤทธิ์กระตุ้นทั้งสมองและระบบไหลเวียนโลหิต กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นบีบตัวมากกว่าปกติ กล้ามเนื้อสั่นกระตุก สัตว์จะกระวนกระวาย ตื่นตกใจง่าย และช็อกได้ เมื่อสารเหล่านี้ตกค้างในเนื้อสัตว์และมนุษย์บริโภคเข้าไปจะได้รับสารอันตรายไปด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจโรคลมชัก โรคเบาหวาน และเด็ก เนื่องจากเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวมากกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นกระวนกระวาย ใจสั่น นอนไม่หลับ วิงเวียนและปวดศีรษะ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถป้องกันตนเองจากพิษภัยของสารเร่งเนื้อแดงได้ โดยให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีมาตรฐาน จากแหล่งผลิตและจำหน่ายที่เชื่อถือได้…ด้วยการสังเกตเนื้อหมูที่ต้องไม่มีสีแดงจนเกินไป

เมื่อกดชิ้นเนื้อจะมีสัมผัสนุ่ม ลักษณะยืดหยุ่น ไม่แข็งกระด้าง หรือสังเกตเครื่องหมาย “ปศุสัตว์ OK” ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองว่าไม่มีสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ ที่สำคัญยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาทั้งโรงฆ่าและฟาร์มเลี้ยงที่ต้องได้บการรับรองจากกรมปศุสัตว์เช่นกัน เพียงรู้วิธีการเลือกซื้อง่ายๆ รวมถึงสังเกตป้ายบ่งชี้ที่ชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้ผู้บริโภคได้รับประทานเนื้อหมูที่ปลอดภัยอย่างแน่นอน

ที่มา : ไทยรัฐ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1336681