อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ รวมทั้งเรื่องอาหารการกินที่มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง และที่สร้างชื่อเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ รวมไปถึงเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ คือเมนูซึ่งทำมาจาก “ไก่เบตง”
ไก่เบตง เป็นไก่พันธุ์เนื้อพื้นเมืองที่นำพันธุ์มาจากประเทศจีน ที่เรียกว่า “ไก่กวางไส” ซึ่งเป็นไก่ที่มีต้นกำเนิดมาจากไก่พันธุ์แลนซาน เริ่มเข้ามาในเมืองไทยครั้งแรกเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันจึงได้ชื่อว่าเป็นไก่เบตง เพราะกำเนิดการเลี้ยงในประเทศไทยครั้งแรกที่ อ.เบตง ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตงที่อยู่ใต้สุดแดนสยาม โดยไก่เบตงพันธุ์แท้ต้องมีหงอนสีแดงสด ขนสีเหลืองทอง บั้นท้ายตัด คอและขาแข็งแรง หากโตเต็มที่บางตัวมีน้ำหนักมากถึง 4-5 กิโลกรัม เป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของเบตง ปัจจุบันกลายเป็นสินค้าทางเลือก เนื่องจากมีราคาสูง และต้องใช้เวลาเลี้ยงนาน หากเปรียบเทียบไก่เนื้อซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงเพียงแค่ 5 สัปดาห์ แต่ไก่เบตงใช้เวลาเลี้ยงนานถึง 16 สัปดาห์ (4 เดือน) หรืออาจต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน
นายสุนทร ศรีสง่าพงษ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง เล่าว่า เริ่มเลี้ยงไก่เมื่อปี 56 โดยใช้ทุนครั้งแรกประมาณ 30,000 บาท ตลาดส่วนมาก จะส่งภัตตาคาร ร้านอาหาร ราคากิโลกรัมละ 220 บาท ขายรุ่นละ 300 ตัว ได้เงินประมาณ 3 แสนบาท โดยเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ ให้ไก่หากินเองจะทำให้เนื้อแน่น มีรสชาติอร่อย แตกต่างจากเลี้ยงไก่แบบขัง ที่จะอ้วนมีไขมันสะสม เนื้อไก่ไม่แน่น ลูกค้าจะสังเกตและลองทานเนื้อดูจะรู้ มีส่วนต่างในเรื่องราคา เพราะแม้ไก่เลี้ยงขังจะมีน้ำหนักมากแต่ได้ราคาน้อยกว่า ซื้อขายกันที่กิโลกรัมละ 180 บาท ส่วนเลี้ยงแบบธรรมชาติจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 220 บาท
ปัจจุบันการเลี้ยงไก่เบตงนั้นไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องด้วยข้อจำกัดของลักษณะพันธุ์ไก่เบตง เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงยาก โตช้า ในช่วง 1 -3 เดือน ไก่จะไม่มีขน จึงมีตัวริ้นและแมลงต่าง ๆ มากัดไก่ ทำให้ผิวไม่สวยราคาตก และไก่ยังต้องการพื้นที่ส่วนตัว หากเกษตรกรมีพื้นที่ไม่กว้างพออาจทำให้ไก่ตัวผู้จิกกันเอง นอกจากนั้นไก่ตัวผู้ยังมีปีกสั้นอ่อนทำให้ยากต่อการขึ้นผสมพันธุ์ ส่วนไก่ตัวเมียมักชอบจิกกินไข่ตัวเอง
การเลี้ยงไก่ได้อะไรมากกว่าที่คิด สามารถสร้างรายได้เสริมจากงานประจำ ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงได้ความเพลิดเพลิน ช่วยให้เศษอาหารที่รับประทานเหลือได้ใช้ประโยชน์มากที่สุด เสริมสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้รู้ขั้นตอนการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า ไก่ที่เลี้ยงเองไม่จำ เป็นต้องใช้ยาเร่งโต ลดยาปฏิชีวนะที่ไม่ควรใช้ ทั้งนี้ภาครัฐสนับสนุนและผลักดัน เพื่อสร้างอาชีพที่มั่น คงให้กับประชาชน โดยสนับสนุนด้านวิชาการและการตลาด แนะนำการเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ ที่สามารถประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพ เมื่อประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม.
ที่มา : เดลินิวส์ …โดย เจษฎา สิริโยทัย… อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/agriculture/651155