“ลักษณ์” Kick off ปล่อยขบวนรถ “โครงการคลังชุมชน” อย่างอลังการ ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ 2561 เพื่อสำรองอาหารสัตว์ในยามเกิดภัยพิบัติแห่งละ 5,000 บาท รวมทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 4 ล้านกิโลกรัม สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบภัย ได้ 172,124 ตัว ในเวลา 5 วัน
นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังปล่อยขบวนรถ “โครงการ คลังชุมชน” ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ 2561 ณ กลุ่มแปลงใหญ่ผลิตข้าวครบวงจร บ้านหนองแขม ต.บ้านน้อย อ.โพทะเล จ.พิจิตร ว่า จากการที่ประเทศไทยเกิดอุทกภัยในลักษณะซ้ำซาก ที่ทำให้พี่น้องประชาชนและสัตว์เลี้ยงได้รับความเดือดร้อน ทรัพย์สินได้รับความเสียหายซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
[adrotate banner=”3″]
ด้านปศุสัตว์ก็มักได้รับความเดือดร้อนจากการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารสัตว์ ซึ่งกระทบต่อสุขภาพและผลผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรสำรองเสบียงสัตว์ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งเสบียงสัตว์ชุมชน ภายใต้ชื่อโครงการ “คลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล” โดยจัดให้มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้งคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล มีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงด้านอาหารสัตว์ สำหรับรวบรวมเสบียงสัตว์ไว้ในพื้นที่ และสามารถนำมาแจกจ่ายให้เกษตรกรได้ทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ มีเป้าหมายในการจัดตั้งคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบล จำนวน 2 แห่ง และเก็บสำรองเสบียงสัตว์ในคลังเสบียงสัตว์แต่ละแห่ง จำนวน 5,000 กิโลกรัม/ปี/แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ถึง กันยายน 2561
ด้าน นายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชแทนอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานปศุสัตว์อำเภอจะให้คำแนะนำ ควบคุม ติดตามการจัดเก็บ การแจกจ่ายเสบียงสัตว์จากคลังเสบียงสัตว์ และรายงานปศุสัตว์จังหวัด อีกทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์พิจิตร จะติดตามประเมินผลและรายงานผลการปฏิบัติงานให้สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ต่อไป
คาดว่าคลังเสบียงสัตว์ประจำตำบลสำรองเสบียงสัตว์แห้งในเบื้องต้น 5,000 กิโลกรัม/ปี/แห่ง สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้ทันที และเป็นต้นแบบการสำรองเสบียงสัตว์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรภายใต้การบริหารจัดการโดยเกษตรกร หากขยายผลครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศจะลดความสูญเสียด้านการปศุสัตว์ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้มีการสำรองเสบียงสัตว์ไว้คอยให้ความช่วยเหลือเกษตรกร รวม 4,303,100 กิโลกรัม สามารถใช้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ประสบภัย ได้ประมาณ 172,124 ตัว ในระยะเวลา 5 วัน