สุดยอดตำรา “คัมภีร์เลี้ยงโคนมครบวงจร”อีก 2 ปีไทยสู่สากล

  •  
  •  
  •  
  •  


3 ภาคส่วนจับมือร่วมกันพัฒนา 
“หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ”  เน้นแนวคิด “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และผลผลิต” เสริมแกร่งเกษตรกรโคนมไทย มั่นใจเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนมและยกระดับอุตสาหกรรมนมไทยเทียบเท่าสากลภายใน 2 ปี

         บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันแถลงความสำเร็จในการจัดทำ “หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” หลังลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในปีที่ผ่านมา ชูจุดเด่นเน้นแนวคิด “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และผลผลิต” แบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 หัวข้อใหญ่ครอบคลุมทุกองค์ความรู้ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ได้กับเกษตรกรโคนมปัจจุบันหรือเกษตรกรรายใหม่ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม โดยเป็นการปรับพื้นฐานและเพิ่มเทคนิคต่างๆ รวมถึงการสร้างระบบการบริหารจัดการฟาร์ม  ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำไปใช้ในการอบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ   การทำเกษตรโคนม เตรียมพร้อมเดินหน้าโครงการฝึกอบรมและพัฒนากลุ่มเกษตรกรโคนมกว่า 8,000 รายในเครือข่ายของโฟร์โมสต์และอ.ส.ค. มั่นใจหลักสูตรฯ ช่วยเสริมแกร่งให้เกษตรกรไทยผลิตน้ำนมโคคุณภาพได้มาตรฐานระดับสากลภายใน 2 ปี

         ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในการขับเคลื่อนThailand 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ต้องการให้คนไทยมีความกินดี อยู่ดี  มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถพึ่งตนเองได้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปในทุกมิติ ทั้งภาคธุรกิจ เกษตร การศึกษาไปสู่โมเดลใหม่ ซึ่งพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนของสถาบันการศึกษา ซึ่งถือเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน โดยการใช้ประโยชน์จากความรู้และข้อมูลที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน เพื่อช่วยให้เกษตรกรผันตัวจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบมาเป็นผู้ประกอบการทางการเกษตรสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) มีการบริหารจัดการที่ดี มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ

         จึงเป็นที่มาขอการร่วมมือกันของ 3 ภาคส่วน คือ ภาคเอกชน ภาครัฐ และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนา “หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรกลางในการส่งเสริม พัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรโคนมและผลิตภัณฑ์นมไทยกับต่างประเทศ และยกระดับการผลิตน้ำนมโคและอุตสาหกรรมโคนมให้ได้มาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปิดการค้าเสรีในปีพ.ศ. 2568 อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน สอดคล้องกับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) ที่มุ่งเน้นเรื่องการขับเคลื่อนงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่เกษตรกรอย่างแท้จริง

         ดร.โอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ กล่าวว่า “ความสำเร็จในการจัดทำ ‘หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ’         ในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรโคนมไทยและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมนม ‘ฟรีสแลนด์คัมพิน่า’ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สานต่อวิสัยทัศน์ในการ ‘ส่งมอบนมโคคุณภาพ 100% ให้กับผู้บริโภค พร้อมสนับสนุนเกษตรกรโคนมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถผลิตน้ำนมโคได้อย่างมีคุณภาพ’ ผ่านการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรฯ นี้ เพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรโคนมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั่วประเทศ ด้วยการนำองค์ความรู้จากการดำเนินโครงการพัฒนาโคนมและคุณภาพน้ำนม (Dairy Development Program) ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 140 ปีในการจัดการฟาร์มโคนมการพัฒนาคุณภาพน้ำนม และผลิตภัณฑ์นมจากเกษตรกรโคนมชาวเนเธอร์แลนด์สู่เกษตกรชาวไทย

          “องค์ความรู้ที่หยิบยกมาบูรณาการในหลักสูตรฯ คือ หลักการอบรม 7 แนวทางสำคัญ (7 Diamonds) ประกอบด้วย การจัดการอาหารและน้ำ การเลี้ยงลูกโค การรีดนม ความสมบูรณ์พันธุ์ การดูแลกีบ การออกแบบโรงเรือน และการบันทึกข้อมูล ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้สำคัญของฟรีสแลนด์คัมพิน่าที่เน้นเรื่องการพัฒนาฟาร์มโคนมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable dairy farming and business operations) ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรโคนมไทยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพการบริหารจัดการฟาร์มและคุณภาพน้ำนมดิบโดยหลังจากนี้เราจะเริ่มนำ ‘หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ’ ไปใช้อบรมเกษตรกรโคนมในเครือข่ายของโฟร์โมสต์ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมฟาร์มโคนมและบุคลากรฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดหวังว่าจะสามารถผลักดันและเสริมศักยภาพให้เกษตรกรโคนม       ในเครือข่ายสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิตน้ำนมได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้” ดร.โอฬาร กล่าว

           ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “การส่งเสริมการเลี้ยง โคนมให้เป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรไทย และมุ่งสร้างแหล่งความรู้ด้านกิจการโคนมและ อุตสาหกรรมนมอย่างครบวงจรให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศไทย ถือเป็นพันธกิจหลักของ อ.ส.ค. โดยล่าสุด อ.ส.ค. ได้จัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 รองรับยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2560-2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนพัฒนายกระดับประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน พร้อมวิจัย พัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมให้เป็นมืออาชีพ ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกให้มีความมั่นคงและเติบโตในอาชีพการเลี้ยงโคนม ด้วยเหตุนี้การที่ ‘หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ’ เสร็จสมบูรณ์จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกษตรกรโคนมไทยตื่นตัวกับการพัฒนาศักยภาพของตนเองในฐานะการเป็นหนึ่งในกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมไทยสู่ระดับสากล”

           ผศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณะบดี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “สำหรับจุดเด่นของ ‘หลักสูตรพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ’ คือ ความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่มาจากการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านต่างๆ โดยเป็นหลักสูตรที่ปรับให้เหมาะสมกับการทำเกษตรโคนมประเทศไทยโดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมปัจจุบันและเกษตรกรผู้เลี้ยงรายใหม่เพื่อสร้างมาตรฐานในการเลี้ยงโคนมที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในการให้คำแนะนำอย่างมีประสิทธิภาพแก่เกษตรโคนมต่อไป โดยเนื้อหาในหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 9 หัวข้อใหญ่ ประกอบด้วย การให้อาหารและโภชนศาสตร์เพื่อผลิตโคนม,น้ำนมและการควบคุมคุณภาพน้ำนมในฟาร์ม,การควบคุมสุขภาพฝูงโคนม,โปรแกรมสารสนเทศ, การประเมินประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มโคนม, หลักปฎิบัติที่ดีสำหรับการทำฟาร์มโคนม, การขนส่งน้ำนมและการควบคุมคุณภาพที่ศูนย์รับนม, การคัดเลือกโคนมและการเลือกใช้น้ำเชื้อพ่อพันธุ์, การจัดการฟาร์ม

[adrotate banner=”3″]

          ทั้งนี้ ในฐานะของหน่วยงานที่ร่วมให้การสนับสนุนในด้านวิชาการ ส่งเสริมการดูแลแนะแนวให้ความรู้และเพิ่มพูนข้อมูลเชิงทฤษฎีให้กับเกษตรกรโคนมตลอดทั้งหลักสูตร รวมทั้ง ยังมีบทบาทร่วมเป็นผู้ชี้นำและแก้ไขปัญหาด้านเกี่ยวกับฟาร์มโคนมอย่างครอบคลุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรและเหล่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้จากหลักสูตรฯ เพื่อปูรากฐานให้กับนักศึกษาและเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้มีทั้งความรู้ควบคู่คุณธรรม จริยธรรมและสร้างผลงานด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ”