ซีพีเอฟยืนมือนำเทคโนฯทันสมัยผลิตไข่ไก่ใน มข.

  •  
  •  
  •  
  •  

                                         ซีพีเอฟยืนมือนำเทคโนฯทันสมัยผลิตไข่ไก่ใน มข.

ม.ขอนแก่น ร่วมกับซีพีเอฟ จัดโครงการ “การเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ”ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตขาไก่  สทมารถบรรจุแม่ไก่ได้กว่า 2 หมื่นตัว เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ การเรียน-การสอน และการค้นคว้าวิจัยด้านการศึกษาต่อไป

รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยคณะเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์และซีพีเอฟดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคณะผู้บริหารนำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมผู้บริหารในสายธุรกิจไก่ไข่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการเรียนการสอนของคณะฯ และเล็งเห็นว่าโรงเรือนเลี้ยงไก่หลังเดิมที่ซีพีเอฟเป็นผู้ปลูกสร้างให้ตั้งแต่ปี 2539 ที่ใช้งานด้านการเรียนการสอนและฝึกงานแก่นักศึกษามานานกว่า 20 ปี ทำให้โรงเรือนมีสภาพทรุดโทรมตามอายุการใช้งาน บริษัทจึงแสดงเจตจำนงที่จะก่อสร้างโรงเรือนหลังใหม่ พร้อมอุปกรณ์การเลี้ยงไก่ในระบบปิดแบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เลี้ยงไก่ไข่ความจุ 20,017 ตัว โดยได้เริ่มเลี้ยงรุ่นแรกเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา พร้อมพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวิชาการเทคโนโลยีการผลิตไก่ไข่ต่อไป

“โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ อุปกรณ์การเลี้ยงที่ทันสมัย รวมถึงสื่อการสอนด้านไก่พื้นเมืองที่ได้รับจากซีพีเอฟทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ การเรียน-การสอน และการค้นคว้าวิจัยด้านการศึกษา ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและสนับสนุนมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด” รศ.ดร.กิตติชัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่หลังใหม่นี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติและสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ และบุคลากรของคณะฯ โดยในช่วงต้นบริษัทได้ส่งผู้แทนที่เป็นศิษย์เก่าของคณะฯ มาช่วยให้ความรู้ การจัดการผลิต การดูแลระบบและการดำเนินกิจการเพื่อให้กิจการสามารถเริ่มต้นได้ จากนั้นให้คณะฯเป็นผู้ดำเนินการและดูแลในลักษณะการบูรณาการระหว่างคณะวิชา นักศึกษา ศิษย์เก่า มีการทำงานร่วมกันภาครัฐและภาคเอกชนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของความร่วมมือทางวิชาการ

สำหรับรายได้จากผลผลิตที่ได้นั้นคณะฯนำมาจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการการดำเนินงาน เป็นค่าสาธารณูปโภคและการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งจัดเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาคณะเกษตรศาสตร์ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ทุน และเป็นค่าบำรุงสถาบัน ตลอดจนจัดเป็นส่วนสนับสนุนการวิจัยตามความเหมาะสม นักศึกษาและบุคลากรทุกคนขอขอบคุณซีพีเอฟสำหรับโครงการดีๆเช่นนี้

นอกจากนี้ คณะเกษตรศาสตร์ยังจัดทำบ่อหมักแก๊สชีวภาพ ซึ่งได้นำมูลไก่ที่เกิดขึ้นลำเลียงสู่ระบบเพื่อผลิตเป็น CBG สำหรับใช้ในการเติมพาหนะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขณะเดียวกันกากมูลที่เหลือจากการหมักแก๊ส ยังนำมาบรรจุเป็นปุ๋ยมูลไก่เพื่อจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับทางโครงการอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่นายสมภพ มงคลพิทักษ์สุข ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนโครงการนี้ ด้วยมุ่งหวังในการร่วมขับเคลื่อนการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ให้เป็นแหล่งฝึกงานเรียนรู้ด้านการเกษตรอุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ของนักศึกษา จากการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับการประกอบการธุรกิจที่แท้จริง โดยใช้การเกษตรเป็นฐานการสร้างการจัดการเกษตรกรรมนำสมัยด้วยเทคโนโลยี นับเป็นการขับเคลื่อนการเกษตรด้วยนวัตกรรมสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐฯ ที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและสนับสนุนการบริโภคอาหารปลอดภัยให้กับบุคลากร ผู้ประกอบการร้านค้าในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และชุมชนโดยรอบ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบของภาคเอกชนที่มีต่อสังคมและสนับสนุนการผลิตอาหารปลอดภัยแก่ชุมชน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของโลก

“ซีพีเอฟใช้งบประมาณรวม 10,348,647 บาท ในการสนับสนุนการสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์ และได้บริจาคให้ม.ขอนแก่น เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ และเป็นต้นแบบความร่วมมือทางวิชาการและกิจการเพื่อสังคมโดยไม่มีพันธะสัญญาด้านการค้าใดๆ ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการพัฒนาด้านการศึกษาให้กับประเทศไทย” นายสมภพ กล่าว