กรมปศ​ุสัตว์ ดึง​ประกาศ “กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่ พ.ศ. 2567” มาทบทวนใหม่ หวั่นกระทบรายย่อย

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมปศ​ุสัตว์ พร้อมนำ​ประกาศ “กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่ พ.ศ. 2567” มาทบทวนใหม่ ก่อนมีผลบังคับใช้ในวันที่​ 2 เมษายน​ 2568​ เน้นไม่ให้มีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ยอมรับบางส่วนอาจอาจจะมีความไม่ชัดเจน ต้องกำหนดมาตรการในการเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันโรคได้ 

นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวทางโซเซี่ยลมีเดียถึงข้อกังวลต่อประกาศของกรมปศุสัตว์ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การนำสุกร หรือหมูป่า เข้ามาเลี้ยงใหม่ พ.ศ. 2567 ซึ่งประกาศ​ในราชกิจจานุเบกษา​แล้ว​ และจะมีผลบังคับใช้​ในวันที่​ 2 เมษายน​ 2568​ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกร​หลังบ้านของชนเผ่าในพื้นที่สูงนั้น

น.สพ.บุญญกฤช ปิ่นประสงค์

ล่าสุดกรมปศุสัตว์พิจารณาแล้วเนื่องจากสาระสำคัญในบางประเด็นของประกาศดังกล่าว อาจจะมีความไม่ชัดเจน กรมปศุสัตว์จึงพร้อมนำมาพิจารณาทบทวนร่วมกับผู้แทนเกษตรกรรายย่อย รวมถึงคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนภาคเกษตรกร ภาคเอกชน และภาคการศึกษาเพื่อกำหนดมาตรการในการเลี้ยงสุกรให้มีประสิทธิภาพและสามารถป้องกันโรคได้ ตลอดจนสอดคล้องกับการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกระดับต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานสินค้าการเกษตรสำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรเป็นมาตรฐานบังคับ พ.ศ. 2566” ได้ถูกประกาศและนำมาบังคับใช้แล้วในฟาร์มสุกรเชิงพาณิชย์ที่เลี้ยงสุกรขุน ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป หรือเลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ ตั้งแต่ 95 ตัวขึ้นไป ซึ่งมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ในการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มเพื่อให้เนื้อสุกรมีมาตรฐาน ปลอดโรคและปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการต้องได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ (Good Agricultural Practice: GAP) ด้วย

สำหรับเกษตรกรรายย่อยและผู้เลี้ยงสุกรหลังบ้านนั้น ในช่วงที่ผ่านมาได้รับความเสียหายจากการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และโรคระบาดอื่นๆในสุกร เป็นเหตุให้เกษตรกรรายย่อยเลิกเลี้ยงจำนวนมาก   กรมปศุสัตว์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคติดต่อ​ในสุกรที่มีความรุนแรง​ มีอัตราการป่วยและตายสูง ไม่มีทางรักษาและยัง​ไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันโรค ซึ่งการยกระดับการป้องกันควบคุมโรคในการเลี้ยงของเกษตรกรรายย่อยจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคระบาด สามารถเพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ และมีอาชีพที่มั่นคงต่อไป

ทั้งนี้หาก เกษตรกร หรือประชาชนทั่วไปต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีข้อเสนอแนะสามารถแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านทางแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้จาก app store และ google play store ทั้งในระบบ iOS และ android.