กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดงาน “มหกรรมสินค้าสหกรณ์ ชิม ช้อป ใช้ 2024” ตามโครงการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ ส่วนภูมิภาค ภายใต้โครงการสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรและอาหาร จังหวัดพิษณุโลก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขนสินค้าจากสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรมากมายยกมาไว้ที่นี่ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม ถึง วันที่ 2 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 11.00 – 20.00 น. ณ บริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
สำหรับงานมหกรรมสินค้าสหกรณ์ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในการนําสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นมาจําหน่าย สร้างโอกาสทางการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรผู้ผลิต และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในระยะยาว สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์มีช่องทางในการจำหน่าย ซึ่งจังหวัดพิษณุโลกเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย ทั้งสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่ล้วนมีมาตรฐาน ปลอดภัย และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค
ทั้งนี้ สินค้าเกษตรปลอดภัยและสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่นำมาจำหน่าย มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ทั้งในจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆ ทั่วทุกภาค กว่า 50 บูธ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคจากสหกรณ์เครือข่าย เช่น ข้าวสาร น้ำปลา กาแฟ จากสหกรณ์วัดจันทร์ จำกัด กล้วย เผือก มันอบเนย จากสหกรณ์แปรรูปกล้วยตำบลหนองตูม จำกัด ลำไยสด จากสหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด น้ำตาลสด จากสหกรณ์การเกษตรเขาย้อย จำกัด หน่อไม้ต้ม จากกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ผู้ผลิตไผ่หวาน ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ จากกลุ่มทอผ้าไหมบ้านชัยเจริญ และอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน น้ำพริกต่าง ๆ ขนมไทย อาหารพื้นบ้านต่าง ๆ และสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย คัดสรรมารวมกันไว้ที่งานนี้
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และสินค้าเกษตร ซึ่งแนวทางในการยกระดับผลิตภาพการผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ การแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรปรับตัวเข้าสู่ระบบคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย และสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักของภาคเอกชน ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปอีกด้วย
……………………