ดูวิถีเกษตรในทะเลทรายจาก “คิบบุทซ์” สู่ “เจริโค” เมืองแห่งต้นปาล์มในเวสต์ แบงก์

  •  
  •  
  •  
  •  

โดย…ดลมนัส กาเจ 

“การทำเกษตรในอิสราเอลมี 2 รูปแบบคือ “คิบบุทส์” เป็นรูปแบบของการนิคม สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจะมาร่วมกัน และแบ่งปันกำไรเท่าๆ กันในลักษณะของกงสีของชาวจีน และอีกรูปแบบหนึ่งคือ“โมชาฟ”  หรือเรียกง่ายๆว่า “ชาร์บ” คือลักษณะทุนนิยมทำในที่ดินของตนเอง และมีรายได้เป็นของตนเองในมีลักษณะเป็นหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร”

เก็บมาเล่าเรื่องราวที่ได้มีโอกาสครั้งหนึ่ง ไปทำข่าวด้านการเกษตรในประเทศอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรของโลกที่สามารถพลิกทะเลทรายอันแห้งแล้งมาเป็นเมืองการเกษตรที่เขียวขจีจนสามารถส่งพืชผักออกส่งยุโรปในอันดับต้นๆ ของโลก ตรงนี้เองหลายคนให้นิยามว่า เกษตรคือน้ำ มีน้ำที่ไหนสามารถทำการเกษตรได้ที่นั่น โดยไม่ต้องมีพื้นที่ที่เป็นดิน อาทิ ปลูกผักไร้ดิน หรือไฮโดรโปนิกส์ แม้แต่เกษตรแนวดิ่งเป็นต้น เพียงขอให้มีน้ำเพียงพอก็แล้ว

นั่นแปลว่าความสำเร็จภาคการเกษตรในอิสาราเอลนั้น มาจากการบริหารและจัดการน้ำนั่นเอง ทั้งที่อิสราเอลไม่มีแม่น้ำสายหลัก แต่อิสราเอลมีแหล่งน้ำที่สะอาดใต้ดินที่สำคัญเพียง 2 แห่ง และแหล่งเล็กๆ อีกหลายแห่ง อย่างที่ภูเขาในเขตจูเดีย-ซาทาเรีย เป็นแหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติของอ่างกักน้ำใต้ดินที่ใหญ่และสำคัญที่สุด ที่มีน้ำฝนที่ไหลมารวมกันบนหน้าหินของเนินเขาและจะไหลซึมสู่ชั้นหินหนาใต้ดิน และกลายเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่กระจัดกระจายออกไป รวมไปถึงน้ำที่ใช้ในครัวเรือนก็มากักเก็บมาใช้สำหรับรดพืชผักบริเวณบ้านได้

นอกจากนี้ ยังมีท่อส่งน้ำขนาดใหญ่จากแม่น้ำจอร์แดนไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกระจัดกระจายไปพื้นที่การเกษตรมีความยาว 6,500 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำไปทั่วทุกมุมของประเทศ และที่สำคัญเนื่องจากปริมาณน้ำที่มีจำกัดนั่นเอง ทำให้อิสราเอลคิดค้นหาวิธีการใช้น้ำในภาคเกษตรอย่างประหยัดนั่นคือระบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด และระบบน้ำฝอย โดยบริษัท นาน แดน เจน (Naan Dan Jain)บ้างก็อ่านว่า นาน แดน เจียน ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของอิสราเอลและของโลก ปัจจุบันบริษัท นาน แดน เจน ขายหุ้นทั้งหมดให้กับชาวอินเดียแล้ว หลังจากดำเนินกิจการมามากว่า 70 ปี

การที่ไปทำข่าวเกษตรที่ประเทศอิสราเอลนอกจากไปดูงาน “อิสราเอล อะกริคัลเจอร์ อินโนเวชั่น แอนด์ อะกริเทค ” (Israel Agriculture Innovation &Agritech ) หรือเรียกง่ายๆ ว่า “อะกริเทค” แล้วเป้าหมายคือลงพื้นที่แปลงเกษตรเพื่อไปดูระบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด และระบบน้ำฝอยของบริษัท นาน แดน เจน ที่”คิบบุทซ์”

การทำเกษตรในอิสราเอลมี 2 รูปแบบคือ “คิบบุทส์” เป็นรูปแบบของการนิคม สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตรจะมาร่วมกัน และแบ่งปันกำไรเท่าๆ กันในลักษณะของกงสีของชาวจีน และอีกรูปแบบหนึ่งคือ“โมชาฟ”  หรือเรียกง่ายๆว่า “ชาร์บ” คือลักษณะทุนนิยมทำในที่ดินของตนเอง และมีรายได้เป็นของตนเองในมีลักษณะเป็นหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร และปกครองตนเองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมีสมาชิกแต่ละแห่งประมาณ 60-100 ครอบครัว สามารถมีฟาร์มของตนเอง หรือทำร่วมกัน มีบ้านของตนเองนั่นเอง

วันนั้นเราจากที่พักโรงแรมเดอะซีซัน ติดชายหาดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ที่เมืองนัททันยา หรือที่ชาวอาหรับเรียกว่าเมืองนัททันเนีย ห่างจากกรุงเทลอาวีฟราว 30 กิโลเมตรราวเวลา 8 โมงเช้า มุ่งหน้าสู่เมืองคิบบุทซ์ อยู่ตรงกลางระหว่างกรุงเทลอาวีฟกับชายแดนประเทศจอร์แดน ห่างจากกรุงเทลอาวีฟราว 60 กิโลเมตร ไปดูสุดยอดของการจัดการระบบชลประทานเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะการจัดระบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยด และระบบน้ำฝอย ของบริษัท นาน แดน เจน ระหว่างที่เราดินทางในประเทศอิสราเอลจะแลเห็นพื้นที่การเกษตรขึ้นเขียวขจีตลอดแนวทางทั้งกลางแจ้งและโรงเรือน

ตอนนั้น นายเมเยอร์ เลฟวิงเกอร์ เป็นผู้จัดการฝ่ายส่งภาคเอเชีย บริษัท นาน แดน เจน  บอกว่า เดิมทีบริษัท นาน แดน เจน ก็เป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกคิบบุทซ์ หรือนิคมการเกษตร ที่เกษตรกรไปรวมตัวกันอยู่พื้นที่เดียวกันกว่า 5,000 ไร่ เนื่องจากง่ายต่อการจัดสรรระบบน้ำไปยังจุดเดียวกัน นาน แดน เจน จึงคิดระบบการให้น้ำด้วยระบบสปริงเกอร์ และระบบน้ำหยดขึ้นมาเป็นเจ้าแรก มาใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่ส่วนรับผิดชอบของเขาเอง

ต่อมามีเกษตรกรรายอื่นให้ความสนใจ ทำให้ นาน แดน เจน เริ่มผลิตอุปกรณ์และระบบการให้ด้วยระบบสปริงเกอร์ ระบบน้ำหยดขึ้นมาเพื่อจำหน่าย และขยายกิจการจนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในด้านชลประทาน รวมถึงจำพวกหัวจ่ายน้ำทั้งระบบสปริงเกอร์ ระน้ำหยด ระบบน้ำฝอยที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นที่แรกมีสาขากว่า 70 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย แต่ปัจจุบันกิจการของนาน แดน เจน เป็นของชาวอินเดียโดยสิ้นเชิง 100%

หลังอาหารเที่ยง เราออกจากคิบบุทส์ มุ่งหน้าสู่กรุงอัมนาน ประเทศจอร์แดน ปลายทางของการเดินทางในวันนี้โดยรถยนต์ ซึ่งเป็นรถบัสที่เช่าในประเทศอิสราเอล ระหว่างทางเราแวะเพาะโคลน เล่นน้ำทะเลที่เค็มแบบสุดๆ ชนิดที่ดันร่างกายให้ลอยน้ำได้ที่ทะเลเดดซี ทะเลแห่งนี้เราไม่จำเป็นที่ต้องว่ายน้ำเป็น ถึงอย่างไรก็จะไม่จมน้ำ เพราะถ้านอนหงายหลัง หรือเอาหน้าคว่ำกับน้ำร่างจะลอยบนน้ำทันที ราวกว่า 1 ชั่วโมงเราเก็บของขึ้นรถดินทางต่อเข้าสู่เขตเขตเวสต์ แบงก์ เขตปกครองของปาเลสไตน์

ตรงนั้นเองเราเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนคือตลอดสองฝากฝั่งถนนจะแลเห็นแต่ทะเลทรายสุดลูกตา และบางช่วงจะมีพายุทะเลทรายที่พัดเอาทรายขึ้นเห็นสีขาวทรงกรวย บางก็จะมีภูเขาทรายที่ไม่มีต้นไม้บ้าง จนผ่านไปและมาแปลกใจที่เห็นภาพเบื้องหน้า เป็นต้นไม้เขียวขจี พอเข้าใกล้พบว่าเป็นสวนอินทผาลัม บริเวณนั้นจะมีสายน้ำเป็นน้ำตาน้ำไหลผุดออกมาจากดิน มีคนบอกว่า คนสมัยก่อนเชื่อว่าเป็นสายน้ำจากสวรรค์

และ ณ แห่งนี้คือเมือง เจริโค ในอดีต มีสภาพเป็นที่ตั้งชุมชนอาศัย เนื่องจากมีแหล่งตาน้ำพุน้ำจืดผุดขึ้นจากพื้นดินหลายแหล่ง เหมาะแก่การตั้งรกราก ซึ่งในคัมภีร์ยิวระบุชื่อของเจริโคไว้ว่า “เยรีโฮ” (יְרִיחוֹ) ซึ่งหมายถึงเมืองแห่งต้นปาล์ม เป็นที่อยู่ของชาวคานาอันดั้งเดิม ก่อนที่ชาวยิวซึ่งอพยพร่อนเร่กลางทะเลทรายจะเข้ามายึดครอง และปัจจุบันเป็นเขตเวสต์แบงก์ของปาเลสไตน์นั่นเอง