มก.เตรียมพร้อมรับ “นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 67  เริ่ม 2-10 ก.พ.นี้ 9 วัน 9 คืน ที่ ม.เกษตรฯ บางเขน

  •  
  •  
  •  
  •  


มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เตรียมพร้อมรับ “นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่าวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ รวม 9 วัน 9 คืน ที่ ม.เกษตรฯ บางเขน เผยปีนี้ได้ยกระดับงานเกษตรแฟร์สู่สากลเป็นปีที่ 2 ล่าสุดได้รับการตอบรับจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ 15 ประเทศ ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะผลงานวิจัยใหม่ๆ ทั้งพันธุ์ข้าวลดโลกร้อน ข้าวโภชนาการสูง กล้วยปากช่อง KU 46 เป็นกล้วยน้ำว้าลูกผสมพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมถึงกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ลูกผสม

วันที่ 23  มกราคม  2567  ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 พร้อมด้วย ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดงาน ผศ.ดร.นุชนาถ มั่งคั่ง รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน ประธานอนุกรรมการฝ่ายฝ่ายตลาดนัดและสิทธิประโยชน์ และ รศ.ดร.จีมา ศรลัมพ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาอย่างยั่งยืนและสื่อสารองค์กร ผู้แทนประธานอนุกรรมการฝ่ายกิจกรรมนิสิตร่วมการแถลงข่าว ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.ดำรงค์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานเกษตรแฟร์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกสู่สังคม เปิดการเรียนรู้ให้กับนิสิต บุคลากร และอาจารย์ โดยใช้งานเกษตรแฟร์ เป็นห้องปฏิบัติการภาคสนามเพื่อถ่ายทอดความรู้ทุกมิติจากห้องเรียน ช่วยเหลือสังคมประชาชน อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลับไปสู่ชุมชน และสังคม สร้างความสุขให้กับครอบครัว โดยในปีนี้ ได้ยกระดับงานเกษตรแฟร์สู่สากลเป็นปีที่ 2 ได้รับการตอบรับจากสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ 15 ประเทศ นำสินค้าพื้นเมือง สินค้าท้องถิ่นมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างคับคั่ง

ดร.จงรัก กล่าวอีกว่า การจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี นี้ ภายใต้แนวคิด “ นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 10 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 9 วัน 9 คืน ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ โดยเน้น การเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกสู่สังคม อีกทั้งอาจารย์และนิสิตได้ฝึกการทำงานจริงเกิดการเรียนรู้ทุกรูปแบบในงานเกษตรแฟร์ซึ่งเป็นเสมือนห้องปฏิบัติการภาคสนาม ได้นำผลงานวิจัย ผลลัพธ์การเรียนจากห้องเรียนช่วยเหลือสังคม

นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มูลนิธิฯ ให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลับไปสู่ชุมชน และสังคม สร้างความสุขให้กับครอบครัว

สำหรับพื้นที่การจัดงานในปีนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่บริเวณหอประชุมใหญ่ ประตูพหลโยธิน ไปจนถึงบริเวณประตูวิภาวดีรังสิต แบ่งออกเป็น 14 โซน จำนวนประมาณ 1,700 ร้านค้า ซึ่งประกอบด้วยร้านค้านิสิต 286 ร้านค้า ร้านอาหารนิสิต 15 สโมสรนิสิต และ 1 ชมรม นอกจากนี้ ทุกคณะ และสถาบัน ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังจัดแสดงผลงานและถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชน ในโซน H 2 บริเวณหน้าอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ รวมทั้งด้านบนอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ และบริเวณที่ตั้งคณะที่มีเส้นทางผ่านตลอดการจัดงานเกษตรแฟร์ นับเป็นการพลิกฟื้นบรรยากาศการจัดงานเกษตรแฟร์แบบดั้งเดิมให้ทุกท่านได้มาสัมผัสผลงานนวัตกรรม สอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้จากอาจารย์ นักวิจัยและนิสิตโดยตรง

มีกิจกรรมประกอบด้วย การจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมของ มก. การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของคณะ สำนัก สถาบัน อาทิ พันธุ์ข้าวลดโลกร้อน และข้าวโภชนาการสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ (11F09) เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ปรับปรุงล่าสุด ที่ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความเป็นพิษของธาตุเหล็ก และอุณหภูมิสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นข้าวสีม่วงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ข้าวที่หุงสุกแล้วจะมีความนุ่ม และมีกลิ่นหอม ข้าวสีเพื่อสุขภาพ สายพันธุ์ใหม่ “KU80 นิลกาฬ” ข้าวเจ้าที่ไม่ไวต่อช่วงแสง มีปริมาณอมิโลสต่ำ ร้อยละ 15.23

“ปีนี้มีผลงานวิจัยใหม่ที่น่าสนใจที่เป็นพืชผักพันธุ์ใหม่รับภาวะโลกรวน อาทิ กล้วยปากช่อง KU 46 เป็นกล้วยน้ำว้าลูกผสมพันธุ์ใหม่ของประเทศไทย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รองเท้านารีอินทนนท์ลูกผสม ไม้ดอกที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ด้วยวิธีผสมเกสรตั้งแต่ ปี 2555 ไม้ดอกสายพันธุ์ดีของสถานีวิจัยดอยปุย เปิดตัวครั้งแรกในงานเกษตรแฟร์ ปี 2567 การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม TGDA Awards 2024” ดร.ดำรงกล่าว

รองอธการบดี มก. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการประกวดพืชและสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านการปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ การประกวดไม้ประดับ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดแพะและ การประกวดกล้วยไม้ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี การประกวดกล้วยไม้ตัดดอก การประกวดผลไม้ และ การประกวดปลากัด

ทั้งนี้ ตลอด 9 วัน ของการจัดงานเกษตรแฟร์ จะมีการสาธิต การอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษาในองค์ความรู้ต่าง ๆ ของศาสตร์แห่งแผ่นดิน การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย กลุ่มร้านค้านิสิต การแสดงศิลปและวัฒนธรรม ดนตรี นาฎศิลป์ และการจำหน่ายสินค้ากลุ่มร้านค้าตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกร ตลาดน้ำ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ดจากผู้ประกอบการ

พร้อมกันนี้ยังเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทุกท่านสามารถเข้าชมงานเกษตรแฟร์เสมือนจริงและเลือกสินค้าได้ตลอดงานอีกด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกกับเกษตรแฟร์ ในรูปแบบเมตาเวิร์ส “KasetfairVerse” กล่าวคือ “KasetfairVerse” เป็นการผสมผสาน “งานเกษตรแฟร์” ทางกายภาพและโลกดิจิทัล กลายเป็นโลกคู่ขนานเสมือนจริง ที่ให้ผู้คนได้เข้ามาพบปะสังสรรค์และมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน (virtual society) สามารถสื่อสาร และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ ผ่านการจำลองตัวของเราเองเป็นตัวละครต่าง ๆ ด้วยอัตลักษณ์ดิจิทัลหรืออวตาร (avatar)
“KasetfairVerse” พื้นที่โลกเสมือนจริงที่เป็นโลกอีกใบที่ยังสามารถให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะในการถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมวิชาชีพ ช่วยเชื่อมต่อผู้คนที่สนใจวิชาชีพเดียวกันได้เข้ามาฝึกอบรม แบ่งปันความรู้ และแชร์ประสบการณ์ระหว่างกันเป็น virtual life-long learning community


ส่วนกิจกรรมที่ผู้ใช้จะได้พบใน “KasetfairVerse” ได้แก่ การเดินชมงาน การเยี่ยมชม virtual store และซื้อสินค้าคุณภาพคัดเกรดจากร้าน The Premium @KU การร่วมกิจกรรมเล่นเกมสะสมแต้มเพื่อเเลกรับของรางวัลจากสปอนเซอร์หลากหลายแบรนด์ดัง และการรับชม live สด สาธิตวิชาชีพ โดยสำนักพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มก.ตลอดทั้ง9วันอีกทั้งยังสามารถสร้างเพื่อนใหม่กับผู้คนที่อยู่ในเมตาเวิร์สด้วยกันได้อีกด้วย

ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 กล่าวด้วยว่า “KasetfairVerse” เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดอุปสรรคเชิงพื้นที่และเวลา เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเนื้อหา พบปะสังสรรค์ในสังคมเสมือน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ไม่ว่าผู้ใช้จะอยู่ ณ ที่ใด เวลาใด ผู้ใช้สามารถเข้าชมและร่วมทำกิจกรรมบน “KasetfairVerse” ผ่านเว็บเบราเซอร์ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์แว่น virtual reality ในการเดินทางสู่โลกเสมือนจริง

“KasetfairVerse เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับบริษัท The Bigbang Theory โดยผลงานการสร้างสรรค์ทางด้านเทคนิค นำทีมโดยนิสิตและคณาจารย์ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผลงานการสร้างสรรค์ทางด้านการออกแบบธุรกิจและการตลาด นำทีมโดยนิสิตและคณาจารย์ภาควิชาการจัดการ และผลงานการออกแบบศิลป์โดยนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สามารถเข้าชมและทำกิจกรรม “KasetfairVerse” ได้ที่ https://kasetfair.ku.ac.th/verse” รองอธิการบดี กล่าวและว่า ข้อมูลการจัดงานเกษตรแฟร์ทั้งหมด รวมทั้งแผนผังการจัดงานจะถูกรวบรวมไว้ในแอปพลิเคชั่น InsideKU ฟีเจอร์ “เกษตรแฟร์ สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งใช้งานได้ทั้ง Android และ iOS