4 องค์กร “อำเภอพัฒนานิคม-ซีพีเอฟ-กรมป่าไม้-ชุมชน” สานต่อฟื้น”ป่าต้นน้ำเขาพระยาเดินธง”

  •  
  •  
  •  
  •  
บริษัท  เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  กรมป่าไม้ และชุมชนรอบพื้นที่โครงการเขาพระยาเดินธง  รวมพลังสานต่อความมุ่งมั่นอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เข้าสู่ปีที่ 8  เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย ฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำลำธาร  ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ จัดกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ  4 ฝาย เพื่อกักเก็บน้ำก่อนเข้าสู่ช่วงแล้ง และทำแนวตรวจการป้องกันไฟป่าระยะทาง 400 เมตร
เป็นกิจกรรมครั้งที่ 2 ของปี 2566 ได้รับเกียรติจาก ดร.รัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม   เป็นประธานเปิดกิจกรรม และร่วมทำฝายชะลอน้ำ กับจิตอาสาซีพีเอฟจากสายธุรกิจต่างๆ  เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้   ชุมชน ผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเอราวัณ  คณะอาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน  โดยมีนายบัญชา ขาวเมืองน้อย  ผู้อำนวยการอาวุโส ซีพีเอฟ  ในฐานะรองประธานคณะทำงานโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง นายถนอมพงษ์  สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า และหัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่  5  (สระบุรี) พร้อมชุมชน ให้การต้อนรับ
ดร.รัฐพล ธุระพันธ์ นายอำเภอพัฒนานิคม กล่าวว่า ขอขอบคุณซีพีเอฟและพนักงานจิตอาสาทุกคน ที่มีความมุ่งมั่นดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีนปีที่ 8 แล้ว ถือว่ามีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่น่าอยู่ อยากเห็นโครงการฯดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เราได้เห็นโครงการปลูกป่าเกิดขึ้นมากมาย แต่การดูแล รักษา และฟื้นฟูยังมีไม่มาก จึงขอชื่นชมบริษัทฯและพนักงานที่เข้ามาทำโครงการนี้ เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ และสร้างระบบนิเวศที่ดีในพื้นที่ เช่นกิจกรรมในวันนี้ ชื่นใจที่ได้เห็นทุกคนมาช่วยกันทำฝายชะลอน้ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวดินในพื้นที่ สัตว์มีแหล่งน้ำที่ใช้กิน  และทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า ทำให้เขาพระยาเดินธงเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยมือของพวกเรา
ด้านนายบัญชา ขาวเมืองน้อย  ผู้อำนวยการอาวุโส ซีพีเอฟ    ในฐานะรองประธานคณะทำงานโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง    กล่าวว่า   ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรทั้งดิน น้ำ อากาศ  และป่าไม้ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำที่เป็นต้นทางของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  โดยตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน  อนุรักษ์ ฟื้นฟู  และปลูกป่าใหม่รวม 7,000 ไร่  และมีเป้าหมายขยายพื้นที่ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 5,000 ไร่ในระยะต่อไป  สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์แล้ง ผลกระทบจากเอลนีโญและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โดยสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมจากฝายเดิมเพื่อกักเก็บน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้่นของผิวดิน   และซ่อมเส้นทางตรวจการ  สร้างแนวป้องกันไฟป่าที่อาจจะเข้ามาสร้างความเสียหายได้
“ความร่วมมือ 3 ประสาน ระหว่าง ซีพีเอฟ  กรมป่าไม้ และชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ทำให้ในวันนี้ ผืนป่าเขาพระยาเดินธง เป็นผืนป่าอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีหลายด้าน อาทิ   ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์ เช่น ผีเสื้อ เห็ดรา เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เป็นแหล่งน้ำของสัตว์ที่เข้ามาอาศัย  เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกป่า ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นของดิน เพิ่มปริมาณน้ำของแหล่งน้ำหลักในพื้นที่ จากการที่เราอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ช่วยให้มีน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และน้ำที่ไหลไปยังแหล่งน้ำของชุมชนได้ใช้อุปโภคบริโภค “นายบัญชา กล่าว
ขณะที่นายถนอมพงษ์  สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า และหัวหน้าโครงการเขาพระยาเดินธง สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่  5  (สระบุรี) กล่าวว่า นโยบายของภาครัฐ มีเป้าหมายอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาอย่างสมดุล การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ  ซึ่งที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีบทบาทและมีศักยภาพสนับสนุนให้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว เห็นได้จากโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ  ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นต้นแบบของความสำเร็จที่เกิดจากความมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ  ภาคเอกชน และชุมชน นอกจากช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยแล้ว    การดูแลป่าต้นน้ำยังทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดิน  เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศต้นน้ำลำธาร  ช่วยกักเก็บน้ำในดิน  และช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลักในพื้นที่ด้วย