ดลมนัส กาเจ
“สีสันโลกเกษตร” วันอาทิตย์นี้ เราย้อนกลับไปตะลุยอาณาจักรเมล่อนรายใหญ่อันดับต้นๆของประเทศไทย บนพื้นที่ผลิตกว่า 150 ไร่ ณ “วาสนาเมล่อนฟาร์ม” ที่ตั้งอยู่บนรอยตะเข็บที่คาบเกี่ยวพื้นที่ 2 จังหวัด คือส่วนหนึ่งติดเขต ต.หนองปลิง อ.หนองแค จ.สระบุรี กับ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ของอดีตวิศวกร “ภานุวัฒน์ อรุณโรจน์ศิริ” ที่ผลิตเมล่อนป้อนทั้งตลาดบนและตลาดล่างภายใต้เครื่องหมายการค้า “FARM FRESH”
ภารถวัฒน์ เล่าว่า ในพื้นที่ 150 ไร่แบ่งเป็นปลูกกลางแจ้ง 80 % ที่เหลือปลูกในโรงเรือนและระบบปิดหรืออีแว็ป เน้นในเรื่องของคุณภาพ อันเป็นจุดแข็งผลผลิต โดยเริ่มจากเรื่องของการจัดการดิน ความสะอาดของพื้นที่ และการจัดการเรื่องของกิจกรรมต้น เน้นทำงานให้รวดเร็วในกรณีที่ติดโรคต้องจัดการทันที 1 ต้น จะไว้ 1 ผลเท่านั้น ให้มีความหวานอยู่ที่ 14 บริกซ์
“การผลิตเมล่อนในประเทศไทยที่เราอาจพบเห็นว่าส่วนใหญ่ จะเป็นการปลูกในรูปแบบของโรงเรือน(กรีนเฮ้าส์) ด้วยเหตุผลในเรื่องของการสามารถควบคุมสภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิต ดิน ฟ้า อากาศ หรือฤดูกาลซึ่งบางฤดูกาลอาจจะไม่เอื้อให้ทำการผลิตได้ แต่ผมเน้นปลูกในกลางแจ้ง เน้นดูแลและจัดการส่วนให้ถูกวิธีประหยัดต้นทุนได้เยอะ ที่สำคัญ เราเชี่ยวชาญกลางแจ้งมากกว่า ที่มีกรีนเฮ้าส์ด้วยเพราะว่าในบางฤดูกาล เช่น ฤดูฝน ไม่สามารถปลูกได้จำเป็นต้องมีกรีนเฮ้าส์ เพื่อให้มีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะเป็นการรักษาตลาดไว้” ภานุวัฒน์ กล่าว
เขา บอกว่า การปลูกแบบกลางแจ้ง ต้องเน้นในเรื่องของการจัดการดินเป็นอันดับแรก ต้องตรวจสอบแล้วค่า pH แล้วทำการปรับสภาพดินก่อน ถ้า NPK อยู่ในระดับต่ำ ก็จะต้องเติมอินทรียวัตถุเข้าไป หลังจากเตรียมดินเรียบร้อยจากนั้นจะเป็นการวางระบบการให้น้ำ และก็คลุมพลาสติก จึงลงต้นกล้าที่เพาะเตรียมไว้พออายุได้ 12 วัน ออกผลเท่าไข่เป็ดเด็ดทิ้งไว้ 1 ผลเท่านั้น ไว้ใบทั้งหมด 25 ใบ ลูกที่ดีที่สุด ข้อประมาณที่ 13 ของลำต้น เก็บไว้จนถึงเก็บเกี่ยวซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีอายุไม่เท่ากันทั้งแต่ 65-90 วัน
สำหรับเมล่อนพันธุ์ที่สุดและราคาแพงที่สุดคือ“ไซตามะเมล่อน” นำเข้าจากจากเมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เนื้อเนื้อส้ม ( orange)ใน 1 ปีปลูกได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้นคือช่วงฤดูหนาวประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ก็จะไปเก็บกลาง ๆ เดือนมกราคม ขายตลาดบนราคากิโลกรัมละ 280 บาท แต่หน้าฟาร์มขายกิโลกรัมละ 200 รองลงมาเป็น “อิบารากิ” ตัวนี้เป็นเซมิเอิร์ลเมล่อนญี่ปุ่น และ โกลเด้น เมล่อน จากเนเธอร์แลนด์ แล้วก็รองลงไปก็จะเป็นเมล่อนแบบปกติ อันนี้คือพันธุ์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน (รายละเอียดในคลิป)