สวก. ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยศิลปกร พัฒนางานวิจัยเชิงระบบ ภายใต้แผนงาน UNESCO Phetchaburi creative City of Gastronomy Food เน้นสร้าง Soft power ต่อยอดเสน่ห์วิถีอาหารเมืองเพชรและภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมอาหารให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับประเทศและสากล หวังยกระดับอาหารเมืองเพชรไปสู่การสร้างรายได้จากการเป็น เมืองสร้างสรรค์แห่งศาสตร์การทำอาหาร ให้กระจายไปสู่ชุมชนประชาชนตามอำเภอต่างๆ และเชื่อมโยงร่วมกับการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีและงานวิจัย คาดจะก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดเพชรบุรีกว่า 20,000 ล้านบาท
ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก.กล่าวว่า สวก. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยด้านการเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุน ววน. มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และมหาวิทยาลัยศิลปกร พัฒนางานวิจัยเชิงระบบ ภายใต้แผนงาน UNESCO Phetchaburi creative City of Gastronomy Food หรือ UNESCO เพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์แห่งอาหาร เน้นสร้างพลังอ่อน ( Soft power) ซึ่งแผนงานวิจัยดังกล่าว จะขับเคลื่อนโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งส่วนงานภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่นทุกภาคส่วน
ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมที่ได้เสนอเป็นพันธะสัญญาไว้กับ UNESCO ซึ่งจะร่วมกับส่วนราชการจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้สามารถขับเคลื่อนและช่วยเสริมหนุนจังหวัดเพชรบุรีใช้โอกาสนี้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มของอาหารเมืองเพชรบุรี ช่วยยกระดับอาหารเมืองเพชรไปสู่ Gastronomy และมาตรฐานระดับนานาชาติ สร้างรายได้จากการเป็น Creative City of Gastronomy ให้กระจายไปสู่ประชาชนตามอำเภอต่าง ๆ และเชื่อมโยงร่วมกับการท่องเที่ยวและของฝากตามเส้นทางท่องเที่ยวริมทะเล เกาะเมืองเพชรบุรี และชุมชนบ้านสวน
โดยมีการศึกษาวิจัยเชิงระบบประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบ่งกิจกรรมวิจัยหลักเป็น 4 กิจกรรม คือ 1) การยกระดับวัตถุดิบอัตลักษณ์ 2) การยกระดับอาหารท้องถิ่นเมืองเพชรสู่สากล ด้วย Chef table และสร้างผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ Phetchaburi Gide และ Michelin Gide 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อาหารและของฝากพื้นถิ่นที่มีอัตลักษณ์ และ 4) การสร้างกลยุทธ์และการประเมินความคุ้มค่าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในเชิงบวกตามพันธะสัญญาเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) โดยคาดหวังว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนในจังหวัดเพชรบุรีกว่า 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรี ได้รับเลือกจาก UNESCO ประกาศชูให้เป็นหนึ่งในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์โลก (UNESCO Creative Cities Network) ประจำปี 2564 ในสาขาเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร (Creative City of Gastronomy) เนื่องจากมีความโดดเด่นในฐานะของ “เมืองสามรส” อันหมายถึงแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของวัตถุดิบสำคัญ 3 อย่างของประเทศไทย ประกอบด้วย “รสเค็ม” จากเกลือสมุทร “รสหวาน” ในฐานะแหล่งปลูกตาล และ “รสเปรี้ยว” ของมะนาวคุณภาพเยี่ยม
นอกจากนี้จังหวัดเพชรบุรียังอุดมไปด้วยวัตถุดิบชั้นดีอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พริก อาหารทะเล เนื้อวัวทุ่ง ชมพู่ สับปะรด กล้วย รวมกับชั้นเชิงในการปรุงอาหารอันประณีตของคนเมืองเพชรที่ถ่ายทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น รวมถึงการได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอาหารของราชสำนักอยุธยา รัตนโกสินทร์ ชาวจีน ชาวมอญ และกลุ่มชาติพันธุ์ภายใน ทำให้อาหารถิ่นเมืองเพชรมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ดังปรากฏอยู่ในอาหาร 4 อย่างที่โดดเด่น คือ แกงคั่วหัวตาล ขนมจีนทอดมัน ข้าวแช่ และก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ซึ่งสะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเมืองเพชรบุรีได้อย่างชัดเจน