เที่ยวสนุก ได้ความรู้ ทริปนี้แวะ “สวนผักปากช่อง” ตำนานคนสู้ชีวิต ผู้ล้มสลายจากธุรกิจก่อสร้าง กลับฟื้นตัวในภาคเกษตร

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

ย้อนไป 16 ปีแห่งความหลัง ครั้งหนึ่งของลูกชายที่ชื่อ ” ชยพล กลมกล่อม” เคยผงาดในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในเมืองกรุง แต่มาล้มสลายจากพิษ “เศรษฐกิจฟองสบู่แตก” ในปี 2540 ทำให้วิถีชีวิตพลิกผัน จากผู้มั่งมีกลายเป็นคนมีหนี้สินหลายสิบล้านบาท ต้องหอบร่างที่เต็มไปด้วยหนี้สินมุ่งสู่ท้องทุ่ง ไปเช่าที่ย่าน อ.ปากช่อง ไปเป็นเกษตรกรเต็มขั้น เริ่มต้นปลูกข้าวโพดหวานป้อน “ไร่สุวรรณ” แล้วเปลี่ยนมาปลูกผัก เช่าที่เพิ่มเกือบ 500 ไร่ มีคนงานนับร้อย สุดท้าย ณ ปัจจุบัน หันมาพัฒนาแปลงเกษตรเป็นท่องเที่ยว และศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร ณ  “สวนผักปากช่อง”  ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

ชยพล ในฐานะแกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง และศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร “สวนผักปากช่อง” ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ย้อนที่มากว่าจะเป็น “สวนผักปากช่อง” ในวันนี้ว่า เมื่อครั้งที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจดีๆ เคยอยู่ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อน ทำโครงการบ้านจัดสรรอยู่ที่ดอนเมือง กรุงเทพ แจ่เจอวิกฤตฟองสบู่แตกปี 2540 ทำให้กลายเป็นคนที่มีมีหนี้หลายสิบล้าน ต้องปิดบริษัท ช่วงแรกคิดไม่ออกว่าชีวิตจะไปทางไหนดี

จนมาเจอเรื่องราวของการทำเกษตร ก็เริ่มสนใจแล้วก็เริ่มศึกษาแบบเริ่มจากศูนย์เลย เพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับชีวิตใหม่ โดยมองว่าไร่สุวรรณ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ อ.ปากช่อง ปลูกข้าวโพดแล้วก็ขายทั้งฝักข้าวโพด ขายทั้งน้ำข้าวโพด(นมข้าวโพด) ในปริมาณมาก จึงคิดมาปลูกข้าวโพดส่งไร่สุวรรณเป็นอาชีพเริ่มต้นช่วงแรก 5 ไร่ ต่อมาก็ขยายเพิ่มเป็น 20 ไร่ แล้วก็ขยายเพิ่มเป็น 85 ไร่ แต่ด้วยกำไรที่ได้ต่อไร่หักแล้ว เหลือไม่มาก เลยมองหาพืชชนิดใหม่เข้ามาทดแทน

“ผมมองว่า คนทางภาคกลางปลูกผัก รวยซื้อรถ เปลี่ยนรถเป็นว่าเล่น จึงเริ่มเข้ามาเรียนรู้เรื่องการปลูกผัก เริ่มปลูกตั้งแต่ คะน้า ผักกวางตุ้ง ผักชี แต่ผักที่ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำก็คือ ขึ้นฉ่าย และ กุยช่าย ทั้งกุยช่ายเขียว-กุยช่ายขาว(แบบใช้กระถางครอบ) เมื่อสำเร็จก็ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการเช่าพื้นที่ของชาวบ้าน จนกลายเป็นคนปลูกผักรายใหญ่ของปากช่อง เพราะมีพื้นที่ปลูกเกือบ 500 ไร่ หมุนเวียนพื้นที่ปลูกกันไป วางแผนการผลิตให้มีผักตัดขายทุกวัน วันหนึ่ง 3000-5000 กก. ส่งป้อนให้กับแม่ค้าตลาดขายส่งในตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง มีคนงานที่ทำงานในแปลงผักกว่า 100 คน จ่ายค่าเช่าที่ปีกว่า 1.4  ล้านบาท มีรายได้จากการขายผักในแต่ละเดือน 2-3 ล้านบาท ” นายชัยพล กล่าว

ผ่าน 3-4 ปี ปัญหาเริ่มตามมา เพราะว่าพื้นที่เช่าส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ  ภัยแล้งคุกคามเพิ่มขึ้นทุกปี คนงานทำเกษตรเริ่มหายากขึ้น ผู้คนเข้าเข้าทำงานในเมือง เลยต้องปรับเปลี่ยนการทำเกษตรอีกครั้งหันมาลดพื้นที่การผลิตลง ทำเกษตรแบบพอเพียง ทำเท่าที่ไหว จากแรงงานประจำที่มี และเป็นช่วงที่เกษตรเชิงท่องเที่ยวเริ่มบูมขึ้นมา ไปศึกษาแนวคิด วิธีการการทำเกษตรพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริหลายพื้นที่ แล้วค่อยๆปรับเปลี่ยนมาเกษตรเชิงท่องเที่ยว และศูนย์เรียนรู้ภาคการเกษตรแทนในนาม ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร “สวนผักปากช่อง”  สร้างโรงเรือนในพื้นที่ 6,700  ตารางเมตร

ภายในักศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร “สวนผักปากช่อง” มี 5 ฐานการเรียนรู้ ฐานที่ 1 เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่: การจัดการพื้นที่, ฐานที่ 2 เรียนรู้เรื่องการเพาะเมล็ด, ฐานที่3 ไปดูเรื่องการผสมดิน ,ฐานที่4 การปลูกพืชแบบอินทรีย์ ซึ่งก็จะมีต้นไม้ที่ใช้ปลูกให้นำกลับบ้านไปด้วยคนละ 1 กระถาง ,และฐานที่ 5 เรียนรู้เรื่องการผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา ในการป้องกันกำจัดโรคพืช

นอกจากจะได้เรียนรู้การทำเกษตรในฐานต่างๆแล้ว ภายในฟาร์มจะปลูกพืชผักหลายชนิดเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมฟาร์มอีกด้วย โดยจะให้คนซื้อสามารถเลือกตัดผักต้นที่ต้องการเองได้เลย โดยเน้นผักสลัดเป็นหลักเพราะผักสลัดเป็นผักที่ปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก ไม่ค่อยมีโรคแมลง และเป็นผักที่คนนิยม เพราะตลาดทั่วไปจะไม่ค่อยมีผักสลัดขาย ผักสลัดขายต้นละ 10 บาท และมีผักสลัดที่ปลูกลงกระถาง ยกกระถางไปได้เลย กระถางละ 20 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นผักดีเพราะได้ผักสดๆจากแปลงปลูกโดยตรง

สนใจ “สวนผักปากช่อง” ตั้งอยู่ที่ 388 หมู่ที่ 19 ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โทร.085-999-6642