ชู “บ้านโป่งโมเดล” รางวัลแห่งการจัดการขยะอย่างยั่งยืน จาก SCGP

  •  
  •  
  •  
  •  

“อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรีเป็นอำเภอที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และมุ่งหวังจะนำบ้านโป่งโมเดล ขยายไปทั่วทั้งจังหวัด และทำให้ราชบุรีเป็นเมืองแห่งความสะอาด และปลอดขยะในอนาคตต่อไป”

ปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ หากแต่แท้จริงแล้วมันคือปัญหาใหญ่ของโลก ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสมก็จะสร้างผลกระทบ และความเดือดร้อนให้กับโลกของเราอย่างมหาศาล

อำเภอบ้านโป่ง คืออำเภอหลัก ของจังหวัดราชบุรี นับเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านการเกษตร การค้า และอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ยังไม่ต้องพูดถึงความหลากหลายของจำนวนประชากร ที่มีผู้คนต่างถิ่น ทั้งในจังหวัดห่างไกล และใกล้เคียงเข้ามาพักอาศัย และทำงานในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก

ด้วยความที่มีจำนวนประชากรมากถึง 173,000 คน และผลิตขยะมากถึงวันละ 171 ตันต่อวัน ทาง SCGP ซึ่งมีโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งแรกตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านโป่ง ได้สนับสนุนโครงการ CSR ของชุมชนรอบโรงงาน รวมถึงชุมชนปลอดขยะ (Zero West) ของบ้านรางพลับที่เป็นชุมชนต้นแบบระดับประเทศ จากการเข้าประกวด โครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

SCGP จึงร่วมกับอำเภอบ้านโป่ง และ 17 องค์กรส่วนท้องถิ่น ขยายผลเรื่องการจัดการขยะไปยังชุมชนอื่น ๆ ในอำเภอ โดยกำหนดโครงการขับเคลื่อนชุมชนต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอย อำเภอบ้านโป่ง เพื่อส่งเสริมความรู้ในการจัดการขยะ และศึกษาตัวอย่างการปฏิบัติจริงจากชุมชนรางพลับซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบ เพื่อให้ประชาชนทั่วทั้งอำเภอจะได้มีความรู้ และสามารถจัดการขยะในชุมชนตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า ‘บ้านโป่งโมเดล’

นับตั้งแต่โครงการ ‘บ้านโป่งโมเดล’ ได้รับการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ในทุก ๆ ปีจะมี ‘โครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ’ ซึ่งปัจจุบันได้จัดขึ้นเป็นปีที่3 ติดต่อกันแล้ว

โดยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาอำเภอบ้านโป่ง ร่วมกับ SCGP ได้จัดพิธีมอบรางวัล ‘โครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 3’ ณ ห้องประชุมอาคารอารีน่า หมู่ที่ 17 ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมี นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นผู้มอบรางวัล และประธานในพิธี

นายรณภพ  ได้กล่าวชื่นชมอำเภอบ้านโป่งว่า “เป็นอำเภอที่เป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และมุ่งหวังจะนำบ้านโป่งโมเดล ขยายไปทั่วทั้งจังหวัด และทำให้ราชบุรีเป็นเมืองแห่งความสะอาด และปลอดขยะในอนาคตต่อไป”

ขณะที่ นายเกียรติศักดิ์ หอมเย็นใจ นายอำเภอบ้านโป่ง กล่าวว่า “เราต้องการขับเคลื่อนให้อำเภอบ้านโป่งของเราสามารถจัดการขยะในชุมชนของตนเองได้ ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มต้นดำเนินโครงการเมื่อปี 2562 ถึงตอนนี้ก็ได้ขยายผลไปทั่วทั้งอำเภอ และโครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ในปีนี้ ก็มีชุมชนให้ความร่วมมือ เข้าร่วมประกวดมากถึง 20 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนต่างก็มีกิจกรรม และวิธีการจัดการขยะในพื้นที่ของตนอย่างน่าสนใจมาก ๆ ซึ่งการจัดการมอบรางวัลดังกล่าวขึ้นมานั้น  เราไม่ได้ต้องการให้เกิดการแข่งขันกันแต่อย่างใด หากแต่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการขยะของทุก ๆ ชุมชนในอำเภอบ้านโป่ง”

ด้านนายแสงชัย วิริยะอำไพวงศ์ พนักงานจัดการอาวุโสประจำสำนักงาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า ทาง SCGP ยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมมือกับอำเภอบ้านโป่งในการสร้างชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ และเราก็ยังจะเข้าไปร่วมส่งเสริมสนับสนุนชุมชนที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ให้ก้าวไปสู่เวทีการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ในปี 2566 ต่อไป

ขณะเดียวกันก็ยังได้นำแนวคิดในการจัดการขยะไปขยายผลต่อในจังหวัดที่ SCGP มีโรงงานตั้งอยู่ทั้ง จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดขอนแก่น ทำให้ปัจจุบันเราสามารถสร้างชุมชนต้นแบบการจัดการขยะได้ทั้งหมดถึง 96 ชุมชน และมีเป้าหมายที่จะขยายผลอย่างต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับผลการประกวดในครั้งนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความรู้ในด้านการจัดการขยะ และสิ่งแวดล้อมได้คัดเลือกให้ รางวัลชนะเลิศ เป็นของ บ้านท่าศาลเจ้า หมู่ 6 องค์การบริหารส่วนตำบลลาดบัวขาว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจัดการขยะเฉพาะตัว สามารถนำยางรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานซึ่งมีอยู่จำนวนมากในชุมชน มาสร้างเป็นสนามเด็กเล่น ให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม สร้างมูลค่าจากขยะด้วยการนำขยะมาแปรรูปเป็นสินค้า และเครื่องประดับจำหน่ายเพิ่มรายได้ ขณะที่ผู้คนในชุมชนทุกหลังคาเรือนต่างก็ร่วมมือกันจัดการขยะอย่างเข้มแข็ง และสามัคคี

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนหัวทุ่งหนองโรง หมู่ 3 เทศบาลตำบลกรับใหญ่ เป็นชุมชนที่สามารถนำเอาทรัพยากรหมุนเวียนมาใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้ฟืน หรือก้อนเห็ดที่ไม่ได้ใช้งานเป็นเชื้อเพลิง หลังจากจบกระบวนการจะได้ถ่านมาใช้งาน เศษถ่านนำมาทำถ่านอัดก้อน เป็นพลังงานอีกครั้ง หรือนำไปใช้ปลูกต้นไม้ ขี้เถ้าที่เหลือนำมาทำน้ำด่างเพื่อใข้ประโยชน์ต่อเป็นน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างจาน

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ชุมชนหนองกระจ่อยสร้างสรรค์ เทศบาลตำบลกระจับ เป็นชุมชนกึ่งเมืองที่โดดเด่นในเรื่องการนำเอาวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ มาทำเป็นเครื่องออกกำลังกาย และผู้คนในชุมชนต่างให้ความร่วมมือในการจัดการขยะกันเป็นจำนวนมาก

ขณะที่รางวัลชมเชย มี 3 ชุมชน ที่ได้รับรางวัลด้วยกัน ได้แก่ ชุมชนบ้านฆ้องน้อย หมู่ 12 เทศบาลเมืองท่าผา ชุมชนกึ่งเมืองที่นำขยะกำพร้า ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ถุงขนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม ต่าง ๆ มาหล่อเป็นอิฐบล็อก และทางเดินเท้าได้อย่างสวยงาม

ชุมชนบ้านตะคร้อ หมู่ 12 เทศบาลตำบลเบิกไพร ชุมชนกึ่งเมืองที่เชี่ยวชาญในการนำขยะ จำพวกผ้าที่ไม่ใช้แล้วนำมาหล่อปูนทำเป็นกระถางต้นไม้ และบ้านตลาดนัด หมู่ 13 องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งพยอม ซึ่งจัดการขยะในครัวเรือนได้อย่างดี รวมทั้งผลิตถังหมักเศษอาหาร ในแบบตัวเองขึ้นมาใช้เองได้ทุกหลังคาเรือน

ส่วนรางวัลชุมชนโชว์แอนด์แชร์ยอดเยี่ยม ในปีนี้ตกเป็นของ ชุมชนหนองกระจ่อยสร้างสรรค์ เทศบาลตำบลกระจับ ซึ่งเป็นชุมชนที่ผลิตเนื้อหาการจัดการขยะลงสื่อโซเชียลได้อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ เป็นชุมชนในอำเภอบ้านโป่งที่ได้รับรางวัลในโครงการประกวดชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ Season 3 อย่างไรก็ตาม รางวัลที่ได้รับนั้น ถือเป็นความสำเร็จเพียงส่วนหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่แท้จริงคือ ทุกชุมชนในอำเภอบ้านโป่งล้วนได้รับประโยชน์ ที่ล้ำค่ายิ่งกว่าทรัพย์สิน เงินทอง หรือถ้วยรางวัลใด ๆ สิ่ง ๆ นั้นคือ บ้านเมืองที่มีแต่ความสะอาดน่าอยู่ อันเนื่องมาจากการจัดการรขยะอย่างยั่งยืน และทำได้จริง