ชู “การพัฒนาและขยายผลปุ๋ยชีวภาพฯ” ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯได้รับรางวัลโครงการพระราชดำริดีเด่นปี 65

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร  เปิดตัวโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น ประจำปี 2565 ยกให้ “การพัฒนาและขยายผลปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งเป็นผลงานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้รับรางวัลโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น ระดับดีเด่นในปีหนี้ ชี้แปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์สามารถขยายผลสู่เกษตรกรพื้นที่รอบศูนย์ฯ สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 35.77 ทำให้รายได้สุทธิเฉลี่ย 37,398 บาท/ไร่

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 250 โครงการ  ซึ่งในทุกปีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผลงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น  กรมวิชาการเกษตร  จะคัดเลือกผลงานโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น  ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์สู่พื้นที่เป้าหมายและทั่วไป

ในปี 2565 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ตัดสินให้ “การพัฒนาและขยายผลปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์เพื่อการผลิตพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริซึ่งเป็นผลงานของ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทราสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้รับ รางวัลโครงการพระราชดำริและโครงการพิเศษดีเด่น ระดับดีเด่น

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา ได้พัฒนา ขยายผลการผลิตและการใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นนวัตกรรมของกรมวิชาการเกษตรสู่เกษตรกรให้ผลิตพืชอินทรีย์อย่างยั่งยืนและขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์สู่เกษตรกรและผู้สนใจ  เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ในการผลิตพืชอินทรีย์  พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นตัวอย่างแก่การพัฒนาพื้นที่อื่น  รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแปลงเรียนรู้การผลิตพืชในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตร เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตพืชของกรมวิชาการเกษตร ดังนี้

-ปุ๋ยหมักเติมอากาศ เป็นกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักรูปแบบหนึ่งที่เน้นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจน จากซากพืช ซากสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขณะเดียวกันใช้วิธีเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ยเพื่อรักษาสภาพอากาศในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมเพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติในกองปุ๋ย ในกระบวนการผลิตสามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพปุ๋ยในกระบวนการหมักได้ จึงทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์ ไม่มีกลิ่นธาตุอาหารอยู่ในรูปพร้อมปลดปล่อยให้ต้นพืชได้ทันที

-แหนแดงเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมีศักยภาพและเหมาะสมที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เกษตรกรสามารถผลิตได้เอง มีปริมาณไนโตรเจนค่อนข้างสูง สลายตัวง่ายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็ว ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน

-พีจีพีอาร์-1เป็นปุ๋ยชีวภาพที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช   มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจน เพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารพืช สร้างสารซิเดอโรฟอร์ ที่ช่วยเพิ่มการนำธาตุเหล็กเข้าสู่เซลล์พืชเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดน้ำและปุ๋ย เพิ่มปริมาณรากพืช เพิ่มผลผลิตพืช และลดการใช้ปุ๋ยเคมี

-ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย  เป็นชีวภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อกลางคืน ตัวอ่อนด้วงหมัดผักเป็นต้น โดยทำให้แมลงตายลงไปภายใน 24-48 ชั่วโมง มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

-แมลงหางหนีบขาวงแหวน สามารถนำแมลงหางหนีบไปใช้กำจัดศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนกระทู้ข้าวโพด หนอนเจาะสมอฝ้าย และแมลงดำหนามมะพร้าวและเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มีประสิทธิภาพในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี

นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า  เทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตรทั้งหมดดังกล่าว เกษตรกรสามารถดำเนินการผลิตใช้ได้ด้วยตนเอง จึงได้ถ่ายทอดและขยายผลให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา ให้มีความรู้ และสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ของตนเอง จนประสบความสำเร็จด้านเกษตรกรรมและพัฒนาอาชีพนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นเป็นการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ

ทั้งนี้จากการดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยจัดทำแปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์สามารถขยายผลสู่เกษตรกรพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถลดต้นทุนได้ร้อยละ 35.77 ทำให้รายได้สุทธิมากกว่าเฉลี่ย 37,398 บาท/ไร่

นอกจากนี้ จากการดำเนินการแปลงต้นแบบการผลิตพืชอินทรีย์ เกษตรกรแปลงต้นแบบสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตพืชอินทรีย์โดยใช้เทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร และได้ผลิตปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ใช้เอง  ซึ่งมีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานแปลงต้นแบบรวมทั้งสิ้น 349 ราย สามรถขยายผลไปสู่เกษตรกรรอบศูนย์ศึกษาฯ และพื้นที่อื่นได้ 101 ราย ในส่วนของเกษตรกรขยายผลมีการยอมรับและมีความพึงพอใจในการใช้ปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรมากที่สุด  ปัจจุบันเกษตรกรขยายผลได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP จำนวน 97 ราย และ Organic Thailand จำนวน 7 ราย