ธ.ก.ส.ร่วมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯหนุนเพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนและสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต

  •  
  •  
  •  
  •  

ธ.ก.ส. เดินหน้า 7 แผนงานเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ 26 ล้านไร่ พร้อมเติมทุนหนุนการสร้างอาชีพและรายได้ที่มาจากป่าไม้เพื่อสร้างความมั่งคั่งและยั่งยืนตามหลัก BCG พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมปลูกป่าเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 90 พรรษา

วันที่16 มิ.ย.65 นายสมเกียรติ  กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นประธานในโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา โดยมีเกษตรกรภาคีเครือข่าย คณะผู้บริหารและพนักงานในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม ณ วัดป่าธรรมวิสุทธิมงคล ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

นายสมเกียรติ กล่าวว่าธ.ก.ส.ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมาแก้ไขปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม ก่อให้เกิดผลกระทบไปยังเกษตรกรทั้งความเสียหายด้านการผลิตและรายได้ที่ลดลงผ่านการดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้ ตั้งแต่ปี 2553 และในปี 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ธ.ก.ส. เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน“โครงการชุมชนไม้มีค่า”วางเป้าหมายภายใน 10 ปีประเทศไทยจะมีชุมชนไม้มีค่า 20,000 ชุมชน พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่

มีประชาชนเข้าร่วมโครงการ2.6ล้านครัวเรือนมุ่งหวังให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า1,040ล้านบาทโดยประชาชนสามารถใช้ต้นไม้บนที่ดินของตนเองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน และต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการธนาคารต้นไม้กับธ.ก.ส.กว่า6,838 ชุมชน มีสมาชิกธนาคารต้นไม้ 123,424 คน สามารถปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นบนพื้นที่ประเทศไทย 12,369,563 ต้น พร้อมวางเป้าหมายพัฒนาไปสู่ชุมชนไม้มีค่า เพื่อสร้างรายได้จากผลผลิตและกิจกรรมจากป่าไม้ โดยมีแผนในการดำเนินงาน ดังนี้

1.แผนงานสร้างมูลค่าเพิ่มชุมชนไม้มีค่าโดยสนับสนุนให้ชุมชนที่ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้กับธ.ก.ส. พัฒนาไปสู่ชุมชนไม้มีค่า จำนวน 321 ชุมชน มีการจัดทำกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับภาคีเครือข่ายและปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้จากกิจกรรมและผลผลิตที่ได้จากไม้และป่าไม้ เช่น การเพาะกล้าไม้การเผาถ่าน การทำน้ำส้มควันไม้สมุนไพร การแปรรูปไม้เป็นเฟอร์นิเจอร์และการรับจ้างปลูกต้นไม้ เป็นต้น คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้ชุมชนกว่า 90 ล้านบาท

2.แผนงานสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ ธ.ก.ส. ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จัดทำหลักสูตรสร้างผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกรในการตรวจวัดและประเมินมูลค่า ส่งเสริมการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจะได้รับวุฒิบัตรจากมก.จำนวน430 ชุมชนจำแนกเป็นกรรมการและสมาชิกโครงการธนาคารต้นไม้ 976 คน พนักงาน ธ.ก.ส. 528 คนรวมผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 1,504 คน

3.แผนงานสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme : LESS)และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offset) ธ.ก.ส. มุ่งสร้างการตระหนักรู้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสมดุลเชิงนิเวศด้วยการสนับสนุนชุมชน จำนวน 2,721,900 บาท ให้กับธนาคารต้นไม้ที่ได้รับการรับรองปริมาณก๊าชเรือนกระจกจากองค์การบริหารจัดการก๊าชเรือนกระจก (อบก.) จำนวน60 ชุมชน คิดเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่กักเก็บได้ 468,355 ตันคาร์บอน

นอกจากนี้ยังพัฒนาชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่ และธนาคารต้นไม้บ้านแดง จังหวัดขอนแก่น ให้ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program :T-VER) ซึ่งถือเป็นการเตรียมพร้อมในการพัฒนาไปสู่ระดับที่สามารถซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตและการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting)

1.แผนงานสนับสนุนชุมชนลดมลพิษ ผลจากการทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้เกิดมลพิษ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำและทางดิน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนชุมชนธนาคารต้นไม้ ในการดำเนินกิจกรรมลดมลพิษตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยชุมชน เช่น กำหนดเกณฑ์จำนวนต้นไม้ชนิดพันธุ์ไม้พื้นที่ปลูกการดูแลรักษา โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ชุมชนละ 4,000 บาท ซึ่งมีธนาคารต้นไม้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 24 ชุมชน

2.แผนการใช้ต้นไม้เป็นหลักประกัน ธ.ก.ส. ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในการจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทางธุรกิจซึ่งผลการดำเนินงานมีเกษตรกรนำต้นไม้มาใช้เป็นหลักประกัน จำนวน 3,096,499 บาท

3.แผนการจัดทำโครงการส่งเสริมการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสนับสนุนให้ชุมชนตระหนักถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเตรียมการตั้งฐานการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) ตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 76 ชุมชนและมีชุมชนที่เข้าร่วมตั้งฐานแล้ว 9 ชุมชน

4.แผนการจัดทำโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในปีนี้ดำเนินการปลูกป่าไปแล้วจำนวน 129,000 ต้น รวมถึงการดำเนินกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ในครั้งนี้ พร้อมเป้าหมายดำเนินกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากแผนงานข้างต้นธ.ก.ส. พร้อมเตรียมทุนสนับสนุนกิจกรรมในการปลูกต้นไม้และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการธนาคารต้นไม้และโครงการสินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืนวงเงินรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนและเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ การสนับสนุนการปลูกสวนป่า อัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการปลูก ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรไปแล้ว จำนวน 7.47 ล้านบาทสำหรับเกษตรกรลูกค้าที่ประสงค์จะใช้บริการสินเชื่อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และ Call Center 02 555 0555