อนิสงค์จากอ่างฯห้วยทรายขมิ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของสกลนคร สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกร

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทานปลื้ม อนิสงค์จากอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จ.สกลนคร นอกจากเกษตรกรจะได้ประโยชน์ในการเพาะปลูกกว่า 3,000 ไร่แล้ว ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เสริมรายได้ให้ชาวบ้านและชุมชนได้เป็นอย่างดี 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ได้เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบมาแล้ว 2 ปี หลังจากที่เสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกา เมื่อ 24-27 กรกฎาคม 2560 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริในการปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น จากความจุเดิม 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) เป็น 3.18 ล้าน ลบ.ม. ตามข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศ สามารถส่งน้ำสนับสนุนกิจกรรมเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ประมาณ 3,000 ไร่ และฤดูแล้งได้ประมาณ 1,000 ไร่ นอกจากนี้ ในพื้นที่โครงการได้มีการออกแบบภูมิทัศน์ให้สวยงาม ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสกลนคร สามารถสร้างได้รายเสริมให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย

ด้านนายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า หลังจากที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ ได้ตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทานโครงการชลประทานสกลนคร(ลุ่มน้ำย่อยห้วยทรายขมิ้น)(JMC) โดยบริหารในลักษณะอ่างฯพวงที่มีด้วยกัน 5 อ่างฯ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายตอนบน 1 -3 และอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น

อย่างไรก็ตาม กรรมการฯจะประชุมวางแผนการบริหารจัดการน้ำทั้ง 5 แห่ง และแบ่งสรรปันส่วนกันสำหรับใช้ในการปลูกพืชทั้งปี ในการประชุมจะมีการนำเสนอปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ผลจากการมี JMC สามารถลดปัญหาการจัดสรรน้ำได้อย่างน่าพอใจ จากเดิมที่มักมีปัญหาในช่วงฤดูแล้ง

ขณะที่นายทรงธรรม ไผ่แก้วตา กำนันตำบลขมิ้น อ.เมือง จ.สกลนคร กล่าวว่า หลังจากมีการปรับปรุงเขื่อนและเพิ่มความจุของอ่างฯ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ต.ขมิ้น และ ต.พังขว้าง มีชีวิตที่ดีขึ้น แม้จะเป็นอ่างฯขนาดเล็ก แต่ได้มีการตั้งคณะ JMC ทำให้แบ่งน้ำกันใช้ได้เหมาะสมทั้งการเกษตรและกิจกรรมอื่นในพื้นที่ และบริเวณรอบอ่างฯประมาณ 6 กิโลเมตร มีการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ทุกวันจะมีประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและจากตัวเมืองสกลนคร ซึ่งห่างออกไปประมาณ 10 กม. มาออกกำลังกาย มาปั่นจักรยาน และวันหยุดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว

ทำให้เกษตรกรและคนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และล่าสุดได้เข้าไปอยู่ในการดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฏีใหม่และโครงการเกษตรกรต้นแบบ การให้ความรู้ การทำเกษตรที่ถูกต้อง รวมถึงปัจจัยการผลิตที่ขาดแคลน