ลุยเมืองอะโวคาโด ย้อนตำนานที่พบพระ จากไม้ผลไร้ค่า วันนี้สร้างรายได้ต้นละครึ่งแสน

  •  
  •  
  •  
  •  

ดลมนัส กาเจ

        “ต้นอะโวคาโดเก่าแก่ของผมที่ปลูกมาเกือบ 30 ปีแล้ว ที่เหลืออยู่ 2 ต้น ปีที่ผ่านม่าออกผลผลิตดกต้นละกว่า 1 ตัน มีแม่ค้ามาขอซื้อ กก.ละ 60 บาท ผมขายได้ต้นละกว่า 5 หมื่นบาท”

หากย้อนไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน หลังจากที่ชาวอำเภอพบพระ จังหวัดที่อยู่ในโครงการจัดที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ (โครงการ พพพ. และ จคพ.)  ได้รับพระราชทานต้นอะโวคาโดจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาปลูกไว้ร่วมระเวลาเกือบ 30 ปี กระนั้นมีคนน้อยนักที่รู้จักและชอบรสชาตของอะไวคาโด ทำให้ต้นอะโวคาโดถูกโค่นทิ้งไปเป็นจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย

ทว่า..วันนี้พบพระกำลังกลายเป็นเมืองแห่งอะโวคาโดของประเทศ และยังเป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์อะโวคาโดจากทุกมุมโลกมากที่สุดในประเทศด้วย ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรจังหวัดตาก (เกษตรที่สูงจังหวัดตาก) ตั้งอยู่ที่ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตากนั่นเอง ซึ่ง ธนากร โปทิกำชัย ผู้อำนวยการศูนย์ เกษตรที่สูงจังหวัดตาก บอกว่ามีกว่า 50 สายพันธุ์

ธนากร เล่าว่า ศูนย์แห่งนี้รับผิดชอบพื้นที่ด้านการเกษตรที่สูงในพื้นที่ 2 จังหวัดคือตากและพิษณุโลก  เน้นที่ไม้ผลและไม้ยืนต้นที่เป็นประโยชน์และสร้างได้ให้กับเกษตรกร    อย่างอะโวคาโด ก็สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีเนื่องจากในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าอะโวคาโด มีมูลค่าค่อนข้างสูง อย่างปีล่าสุดมีการนำเข้ากว่า 350 บาท ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการที่ปลูกอะโวคาโดได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะที่พบพระซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 700-1,000 เมตร

ธนากร บอกอีกว่า ความจริงก่อนที่จะมีการตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรจังหวัดตาก เมื่อปี 2556 ในพื้นที่อำเภอพระ มีอะโวคาโดอยู่แล้วจะเป็นสายพันธุ์พื้นเมือง  จึงนำองค์ความรู้และสายพันธุ์ใหม่ๆที่เหมาะกับพื้นที่จากโครงการหลวงจังหวัดเชียงใหม่มาพัฒนาสายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก

นอกจากนี้ยังการเชื่อมโยงเครือข่ายในต่างประเทศด้วย จึงได้มีการนำสายพันธุ์ใหม่ๆจากต่างประเทศทั้งสายพันธุ์มาตรฐานทางการค้าจากโซนยุโรป จากอิสราเอล เวียดนาม และเป็นของจังหวัดตากเอง มารวบรวมไว้ที่ศูนย์แห่งนี้ จึงกลายเป็นว่า เป็นแหล่งรวบรวมสายพันธุ์อะโวคาโดจากทุกมุมของโลกมากที่สุดในประเทศไทยก็ว่า มีอยู่กว่า 50 สายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์มาตรฐานทางการที่นิยมปลูกในพื้นที่มากที่สุด อาทิ พันธุ์พื้นเมือง,ปิเตอร์สัน ,บัคคาเนีย,พิงค์เคอตัน,แฮส นิวซีแลนด์ ,บูธ 7, บูธ 8 , ปากช่อง28,พบพระ 8, และพันธุ์พบพระ14 เป็นต้น จึงทำให้มีผลผลิตอะโวคาโด สายพันธุ์ต่างตลอดทั้งปี จึงมีแม่ค้าในท้องถิ่นเข้ามารับซื้อถึงหน้าสวนตั้งแต่กิโลกรัมละ 60-120 บาท

     ด้าน ไพเราะ ปานทิม  หรือที่รู้จักในนามผู้ใหญ่ไพเราะ อดีตผู้ใหญ่หมู่ที่ 3 บ้านรวมไทยพัฒนา 7 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ ผู้บุกเบิกปลูกอะโวคาโดยุคแรกของอำเภอพบพระ บอกว่า  มาอยู่ที่พบพระ เมื่อปี 2530 หลังจากที่กองทัพภาคที่ 3 ได้จัดที่ทำกินให้กับทหารผ่านศึก (เคยเป็นทหารผ่านศึกมาก่อน) ภายใต้โครงการจัดสรรพื้นที่ทำกินพบพระ (พพพ.) ต่อมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ชาวบ้านในพื้นที่โครงการจัดที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินคีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก (โครงการ พพพ. และโครงการ จคพ.) พร้อมพระราชทานต้นอะโวคาโด และต้นมะคาเดเมียนัท เมื่อ 2538  จึงนำมาปลูกกว่า 20 ต้น

กระนั้นในช่วงแรก ผู้ใหญ่ไพเราะ บอกว่า ยุคนั้นไม่มีใครรู้จักอะโวคาโด กินไม่เป็น รสชาตไม่ถูกคอ จึงพากันโค่นทิ้ง ในสวนของเขาเก็บไว้อนุรักษ์ 2 ต้น ต่อมาเมื่อ 3 ปีก่อน กระแสนิยมบริโภคอะโวคาโดมาแรง คนหันมาบริโภคมากขึ้นเนื่องจากมีประโยชน์ต่อร่างกายทำให้ราคาพุ่งขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

“ต้นอะโวคาโดเก่าแก่ของผมที่ปลูกมาเกือบ 30 ปีแล้ว ที่เหลืออยู่ 2 ต้น ปีที่ผ่านม่าออกผลผลิตดกต้นละกว่า 1 ตัน มีแม่ค้ามาขอซื้อ กก.ละ 60 บาท ผมขายได้ต้นละกว่า 5 หมื่นบาท” ผู้ใหญ่ไพเราะกว่า และว่าตอนนี้หันมาปลูกอะโวคาโดใหม่แล้วในพื้นที่ 5 ไร่จากเดิมพื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 20 ไร่  (รายละเอียดในคลิป)