บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมปกป้องระบบนิเวศ สัตว์ป่า พันธุ์พืช และความหลากหลายทางชีวภาพ สานต่อโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความมั่นคงทางอาหาร รักษาสมดุลทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
3 มีนาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็นวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) โดยปีนี้ กำหนดแนวคิด คือ การดูแลทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ (Recovering key species for ecosystem restoration) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) สำหรับในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช ได้เชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันดูแลพื้นที่ป่าไม้ “กู้วิกฤติชีวิตในป่า พลิกฟื้นชะตาระบบนิเวศ “
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่มีความมุ่งมั่นใช้ฐานทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า และให้ความสำคัญกับการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายกลยุทธ์ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action เน้นสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตลอดจนตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ
“วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ ซีพีเอฟตระหนักดีถึงความสำคัญของการรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกคนบนโลก” นายวุฒิชัย กล่าว
ภายใต้เป้าหมายความมุ่งมั่นปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซีพีเอฟ ดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง พื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 6,971 ไร่ และ โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน พื้นที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร พื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง และปัจจุบันขยายผลสู่จังหวัดตราด
ทั้งนี้บริษัทฯมีการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เมื่อปี 2561 พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 9 ชนิด นก 119 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 20 ชนิด และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 15 ชนิด เป็นฐานข้อมูลก่อนมีการเริ่มการฟื้นฟูป่าและในระหว่างปี มีการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) เพื่อติดตามเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ของสัตว์ป่ากับแหล่งอาหาร พบสัตว์หลายชนิด อาทิ สุนัขจิ้งจอก แมวดาว อีเห็น เป็นต้น รวมทั้งนำนวัตกรรมมาใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเขาพระยาเดินธง ทำให้ผืนป่าสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการปล่อยให้ฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ
นายวุฒิชัย กล่าวต่อว่า ซีพีเอฟ ส่งเสริมให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน จากการใช้ประโยชน์จากป่าและมีส่วนร่วมดูแลป่า เป็นแหล่งอาหาร ชุมชนมีรายได้จากการร่วมดูแลผืนป่า มีการปรับปรุงแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ พร้อมกันนี้ ยังได้ปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และชุมชน รักและหวงแหนธรรมชาติ โดยเปิดพื้นที่ของโครงการฯ เป็นแหล่งเรียนรู้การฟื้นฟูป่า ซึ่งในปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานภาคเอกชน สถานศึกษา ที่เข้ามาศึกษาดูงานกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ และเยี่ยมชมโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เช่น กลุ่มมิตรผล บมจ.บางจากคอร์ปอเรชั่น บมจ.บ้านปู กอ.รมน.ลพบุรี เป็นต้น
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังได้กำหนดนโยบายการจัดหาอย่างรับผิดชอบต่อโลก โดยร้อยละ 100 ของวัตถุดิบหลักมาจากพื้นที่ที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า อาทิ ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง เป็นต้น และร้อยละ 100 ของวัตถุดิบสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มา ทำให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ