นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ ค้นพบ “แมลงชีปะขาวปัญหา” (Tenuibaetis panhai) แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก ที่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เลย และเชียงราย เผยมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด คือ การไม่พบตุ่มปีกคู่หลัง ระบุสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย
สำหรับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ค้นพบ “แมลงชีปะขาวปัญหา” (Tenuibaetis panhai) แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ดร. ชนาพร สุทธินันท์ (นักวิจัย) และ รศ.ดร.บุญเสฐียร บุญสูง (อาจารย์ประจำ) ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Dr. Jean-Luc Gattolliat สังกัด Museum of Zoology เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส ได้ค้นพบแมลงชีปะขาว Tenuibaetis panhai ชนิดใหม่ของโลก โดยพบในลำธาร จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เลย และเชียงราย สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย
ดร. ชนาพร สุทธินันท์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากตนได้ศึกษาความหลากหลายของตัวอ่อนแมลงชีปะขาววงศ์ Baetidae ในภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย และได้ค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก แมลงชีปะขาว Tenuibaetis panhai ในลำธาร จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เลย และเชียงราย ของประเทศไทย โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG4-161004) และโครงการทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ลักษณะทั่วไปของแมลงชีปะขาว ถิ่นกำเนิด และลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกคือ แมลงชีปะขาวสกุล Tenuibaetis Kang & Yang, 1994 (วงศ์ Baetidae) ถือเป็นรายงานครั้งแรกในประเทศไทย ทั่วโลกพบ 8 ชนิด แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด คือ การไม่พบตุ่มปีกคู่หลัง
นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอบาร์โค้ดด้วยยีน COI เทียบกับชนิดอื่นพบว่ามีค่าระยะห่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิดร้อยละ 17-27 นอกจากนี้ยังพบชนิดซ่อนเร้น (cryptic species) คือ Tenuibaetis cf. panhai sp. I และ Tenuibaetis cf. panhai sp. II ซึ่งได้จัดเป็น Molecular Operational Taxonomic Units (MOTUs) เนื่องจากสัณฐานวิทยาไม่แตกต่างจากชนิดใหม่อย่างชัดเจน จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต
สำหรับชื่อสามัญแมลงชีปะขาว และชื่อทางวิทยาศาสตร์ของแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก คือ Tenuibaetis panhai Suttinun, Gattolliat & Boonsoong, 2022 โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแด่ ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหา (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและราชบัณฑิต ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้พัฒนาองค์ความรู้ด้านอนุกรมวิธาน และ ซิสเทมาติคส์ของสัตว์ในประเทศไทย
ในด้านความหลากหลาย และการอนุรักษ์แมลงชีปะขาว ดร. ชนาพร สุทธินันท์ กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มมีนักวิจัยศึกษาอนุกรมวิธานของแมลงชีปะขาวมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลอนุกรมวิธาน และซิสเทมาติคส์ของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวของประเทศไทยเพิ่มขึ้น มีรายงานพบแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ และชนิดใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย สกุลใหม่ของแมลงชีปะขาวที่พบครั้งแรกในประเทศไทย จำนวน 6 สกุล ได้แก่
สกุล Sangpradubina Boonsoong & Sartori, 2016 สกุล Mekongellina Malzacher, 2019 สกุล Cymbalcloeon Suttinun, Gattolliat & Boonsoong, 2020 สกุล Elatosara Malzacher, 2020 และสกุล Thainis Malzacher, 2020 นอกจากนี้ยังพบสกุลที่รายงานครั้งแรกในประเทศไทยหลายสกุล เช่น สกุล Paegniodes Eaton, 1881 สกุล Procerobaetis Kaltenbach & Gattolliat, 2020 สกุล Securiops Jacobus, McCafferty & Gattolliat, 2006 และสกุล Tenuibaetis Kang & Yang, 1994 (การศึกษาครั้งนี้) ส่วนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่มีการค้นพบมากกว่า 20 ชนิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการพบสกุลใหม่ และชนิดใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
การค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย ยังเป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานเดิมที่มีอยู่ ทำให้มีจำนวนสกุล และชนิดของแมลงชีปะขาวเพิ่มขึ้นข้อมูลอนุกรมวิธานเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการนำไปต่อยอดการศึกษานิเวศวิทยา การอนุรักษ์และการใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำร่วมกับแมลงน้ำกลุ่มอื่นในอนาคต
ข้อมูลอ้างอิง
Suttinun C, Gattolliat J-L, Boonsoong B (2022) First report of the genus Tenuibaetis (Ephemeroptera, Baetidae) from Thailand revealing a complex of cryptic species. ZooKeys 1084: 165-182.
https://doi.org/10.3897/zookeys.1084.78405
ข่าวโดย… ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์