ชูวิถีชีวิตเลี้ยงควายเชื่อมโยงกับน้ำทะเลน้อยกว่า 250 ปี ดันพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย สู่ “มรดกเกษตรโลก”

  •  
  •  
  •  
  •  

รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ “ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์” นำทีมลงพื้นที่ระดมสมองหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าดันพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงเป็นมรดกเกษตรโลก ชูวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย ที่สืบทอดมายาวนานมากกว่า 250 ปี ชี้หากสำเร็จ จะทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว โอกาสทางการเกษตร การจ้างงาน รายได้เพิ่มขึ้น

     นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังนำคณะลงพื้นที่ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเล จังหวัดพัทลุง เพื่อติดตามความคืบหน้าและเร่งรัดในการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก และติดตามโครงการ sandbox ปศุสัตว์ และอนุรักษ์พันธ์กระบือไทยเมื่อวันที่ 18 พ.ย.64 ว่า บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีวิถีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับควายน้ำทะเลน้อย โดยสืบทอดการเลี้ยงควายมายาวนานมากกว่า 250 ปี โดยเกษตรกรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยมีรายได้หลักจากการขายควาย ประกอบกับการทำประมงปลูกข้าว และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกระจูด

       ด้านระบบนิเวศ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำในทะเลน้อยมีปริมาณสูง ควายน้ำจะดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำและพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่าย กระจูด ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศในการกำจัดวัชพืช และมูลของควายยังเป็นอาหารให้กับพืชและแพลงตอน ซึ่งเป็นอาหารปลา

       ในด้านวัฒนธรรมควายเป็นศูนย์รวมของความเชื่อ มีพิธีกรรมและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับควาย และทางเดินของควายนอกจากจะสร้างภูมิทัศน์ที่สวยงามยังช่วยป้องกันการเกิดไฟป่าอีกด้วยทั้งนี้ หากพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรโลกได้สำเร็จ จะทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว โอกาสทางการเกษตร การจ้างงานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

        ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับหากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางการเกษตรจึงได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสนับสนุนผลักดันและเร่งรัดการขึ้นทะเบียนระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย โดยให้มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ในการจัดทำแผนงานปฏิบัติการในพื้นที่

       ทั้งนี้เพื่อรองรับการเป็นพื้นที่มรดกทางการเกษตรโลก โดยเฉพาะแผนการท่องเที่ยงเชิงเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเชื่อมโยงในการขอใช้งบประมาณ โครงการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ระยะที่ 2 โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เพื่อรองรับการเป็นมรดกทางการเกษตรโลกรวมทั้งเชื่อมโยงการดำเนินมรดกทางการเกษตรโลกเข้ากับการดำเนินงาน Food Systems และ BCG Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ

       

       นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้สำนักการเกษตรต่างประเทศจัดประชุมเตรียมความพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเตรียมการสำหรับการประเมินของคณะกรรมการ scientific advisory committee ของ FAO ในเดือนธันวาคม และ ในส่วนปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ มอบหมายให้เชื่อมโยงและการบูรณาการเรื่องมรดกทางการเกษตรโลกเข้ากับกิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทย ของจิตอาสาพระราชทาน 904 ในการอนุรักษ์สายพันธ์ควายปลักพื้นถิ่นในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย และศึกษาการจัดตั้ง sandbox มรดกโลกการเกษตร/ควายปลักในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย เชื่อมโยงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และอื่นๆ อีกด้วย.

      มรดกทางการเกษตรโลก (Globally Important Agricultural Heritage System) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO  ซึ่งพื้นที่ที่จะเป็นมรดกโลก จะต้องมีองค์ประกอบครบตามหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ได้แก่

     1) ความมั่นคงด้านอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 2) ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร 3) ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีมาแต่ดั้งเดิม 4) วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม 5) ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 มีพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GIAHS แล้ว 62 พื้นที่ จาก 22 ประเทศทั่วโลก

      เมื่อปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนจากโครงการความร่วมมือระหว่างไทย- FAO สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำแผนงานและเอกสารข้อเสนอการขึ้นทะเบียนมรดกทางการเกษตรโลกในพื้นที่ชุ่มทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีความสำคัญ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก

       จนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “Ramsar site”และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO ในการเป็นมรดกทางการเกษตร ที่เน้นการอนุรักษ์มรดกทางการเกษตรโลกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจ ปกป้องและส่งเสริมการใช้ทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและยั่งยืน