“Agri BIZ Idol” กุญแจสำคัญพัฒนาเกษตรกรยุคใหม่สู่มืออาชีพ รองรับ “เกษตร 4.0”

  •  
  •  
  •  
  •  

     “โครงการฯ Agri – BIZ The Idol 2020 จะเป็นรูปแบบการฝึกอบรมแบบเข้มข้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และการพัฒนาศักยภาพให้กับเกษตรกร โดยมีทีมวิทยากรชั้นนำ หรือ Coach Agri BIZ และพี่เลี้ยงมากด้วยประสบการณ์ในด้านธุรกิจเกษตร คอยให้คำปรึกษาตลอดการอบรม เพื่อให้ความรู้กับผู้ร่วมโครงการ “

      ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ทำให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณื ได้เนรมิต “โครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ หรือ Agri BIZ Idol Development Project” ขึ้นมาเพื่อสอดรับกับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยสู่ “เกษตร 4.0 ” ซึ่งได้ดำเนินการล่วงเลยมาเป็นปีแล้วนับตั้งแต่กลางปี 2563 แต่กระนั้นหลายคนคงสงสัยว่า โครงการนี้เป็นโครงการอะไร เกี่ยวข้องกับใคร และประเทศชาติได้อะไรจากโครงการนี้?

                                                     เขัมแข็ง ยุติธรรมดำรง

     นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เล่าให้ฟังว่า โครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ Idol Development Project) เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงนโยบายโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) ของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งกองพัฒนาเกษตรกรได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563

       เน้นให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ ของเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer มืออาชีพ เพื่อรองรับการเกษตร 4.0 การพัฒนาสินค้าเกษตรคุณภาพสูง มีความปลอดภัย และสามารถแข่งขันในตลาดได้ (Smart Production) ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเกษตรกรต้นแบบและเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ได้ประกอบอาชีพด้านการเกษตรในลักษณะผู้ประกอบการที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) ที่เน้นการผลิตสินค้าเกษตรด้วยการบริหารจัดการ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในการผลิต

        ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการปัจจัยการผลิตและกิจการที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าสินค้าเกษตร รวมทั้งการพัฒนากระบวนการผลิตและผลผลิต สู่การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และช่วยยกระดับสู่การส่งออก ตลอดจนช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ก่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด ทั้งนี้ผู้นำด้านเกษตรที่จะเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกำลังสำคัญของภาคเกษตรไทยในอนาคตต่อไป

     สำหรับวิธีการขับเคลื่อนของโครงการพัฒนา Smart Farmer ผู้ประกอบการต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรชั้นนำ (Agri BIZ Idol Development Project) หรือโครงการฯ Agri – BIZ The Idol 2020 จะเป็นรูปแบบการฝึกอบรมแบบเข้มข้น เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ และการพัฒนาศักยภาพให้กับเกษตรกร โดยมีทีมวิทยากรชั้นนำ หรือ Coach Agri BIZ และพี่เลี้ยงมากด้วยประสบการณ์ในด้านธุรกิจเกษตร คอยให้คำปรึกษาตลอดการอบรม เพื่อให้ความรู้กับผู้ร่วมโครงการ โดยแบ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเกษตรแปรรูป เพิ่มมูลค่า 2) เกษตรท่องเที่ยว 3) วิสาหกิจชุมชนและบริการการเกษตร 4) เกษตรวิถีอินทรีย์ และ 5) กลุ่มเกษตรไฮเทคและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมแล้วทั้งสิ้นจำนวน 78 คน

สำเริง เชยชื่นจิตร

      นายสำเริง เชยชื่นจิตร (กวาง) 1 ในเกษตรกร 78 คน ที่ผ่านการอบรม บอกว่า ได้นำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ มาปรับประยุกต์ใช้ในกิจกรรมเกษตรของตนเอง โดยเน้นการทำกิจกรรมร่วมกัน การใช้กระบวนการเรียนรู้ และการเป็นนักสื่อสารอย่างบูรณาการด้วยบทเพลงและการแสดงดนตรีสู่การเล่าเรื่อง เชื่อมโยงร้อยเรียงสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม และการศึกษาเข้าด้วยกัน

      รวมถึงการนำกระบวนทัศน์วิถีคุณค่าและความหมายต่อมนุษย์การผลิตกสิกรรม (Values – Meaningful Agriculture Live) มาใช้เพื่อสร้างสมดุลกสิกรรมวิถีเข้มข้นเชิงเดี่ยว การผลิตเพื่อขายมิติเดียว และการสร้างพลเมืองและพัฒนาประชาชนรุ่นใหม่อย่างบูรณาการและเป็นองค์รวมในรูปแบบ “บ้านเกษตรกรชาวนาน้อย” (Little Farmer) เปิดโอกาสให้เยาวชน สถานศึกษา ชุมชน และสาธารณชน รวมไปถึงผู้ปกครองที่ได้พาลูกๆ มาร่วมทำกิจกรรม ได้เกิดการเรียนรู้รอบด้าน หลากหลายมิติจากการปฏิบัติจริง ตามปรัชญาว่า “ชาวนาน้อยทำเชิงเกษตรสุข บูรณาการ เชื่อมประสานการเรียนรู้ร่วมกัน ในรูปแบบ Co – Learning Space เชื่อมประสานวิถีการเกษตร ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สังคม การศึกษา สุนทรียะ ดนตรี ศิลปะ บ้าน วัด ชุมชน สังคม โรงเรียน มหาลัย”

      สิ่งสำคัญที่สุดคือตนเองได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักยึดในการพัฒนาและปฏิบัติในการดำรงชีวิต “แบบชีวิตเกษตรสุข” โดยจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร อาทิเช่น การดำนา การเกี่ยวข้าว การวิดน้ำ การปั้นดิน การขี่ควาย การจับปลา การทำผ้ามัดย้อม แคมป์ปิ้งกองไฟ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อเด็กๆ มีความสนุก สุข เรียบง่าย และเป็นกันเอง ในการเรียนรู้และได้รับประสบการณ์จริงด้วยตนเอง ถือเป็นกระบวนการปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพด้านการเกษตรให้กับเยาวชนอีกด้วย

       นอกจากตนเองจะได้รับการประเมินให้ผ่านเกณฑ์เป็น Young Smart Farmer ของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศประจำโครงการความร่วมมือไทย – ลาว (TICA) ณ แขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว และยังได้รับโอกาสให้ทำงานด้านอาสาสมัคร เช่น บัณฑิตอาสาสมัครเพื่อนไทย (FFT) ในโครงการส่งเสริมการเกษตร ความร่วมมือไทย – ลาว ในแขวงหลวงพระบาง สปป. ลาว อาสาสมัครมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร อาสาสมัครสิ่งแวดล้อมบึงสีไฟ อาสาสมัครจัดกิจกรรมตามรอยพ่ออย่างพอเพียง จิตอาสาระดมทุนโครงการก้าวคนละก้าวเพื่อโรงพยาบาลพิจิตร ด้วยอัลบั้มเพลงสานฝันพิจิตรอาสาสมัครด้านดนตรีแก่องค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น

     “เราได้นำความรู้ ความสามารถ และความโดดเด่นด้านดนตรีกับบทเพลง มาใช้เป็นกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ศิลปะในการสื่อสาร นำมาใช้ต่อยอด มาทำธุรกิจการเกษตรสร้างเรื่องราวให้แก่แบรนด์ชาวนาน้อย และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของตนเองอีกด้วย” นายสำเริง กล่าว

     เขา เล่าอีกว่า การที่ตนเองมีความถนัดในด้านการใช้ศาสตร์และศิลป์ พร้อมกับการปฏิบัติด้วยการลงมือทำจริง ด้วยการสร้างสรรค์และสื่อสารงานด้านการเกษตร ทำให้เห็นว่าผลกำไรจากการประกอบอาชีพการเกษตรของตนเองแท้จริงแล้ว คือ การปลูกฝังทัศนคติที่ดีผ่านกิจกรรมต่างๆ ด้านการเกษตร ไปสู่เด็กๆ และเยาวชน เพื่อต่อยอดและเชื่อมโยงไปสู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน คนรอบข้าง ชุมชน และสังคม รวมทั้งมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า “พลังภาคีเครือข่าย” เป็นจุดเริ่มต้นหลักที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายภาคการเกษตร ขยายผลต่อเป็นทอดๆ และเรียงร้อยเข้าด้วยกัน

     เนื่องเพราะการมีส่วนร่วมและการลงมือปฏิบัติจริงจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านวิธีคิดและกระบวนการทำงานของสังคมด้านการเกษตรของประเทศไทยได้ โดยในแต่ละปีจะมีผู้ให้ความสนใจเยี่ยมชม ศึกษาเรียนรู้ และเข้าร่วมกิจกรรมของตนมากกว่า 500 คน/ปี แต่เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ตนเองต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนผ่านสื่อออนไลน์ และใช้สื่อวีดิทัศน์ประกอบกิจกรรม

    ในความคิดตนเองนั้น การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ก็คือการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันด้วยความรักอย่างมีความสุข ธุรกิจการเกษตรจะมั่นคงได้ต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างความสุข ในรูปแบบของเกษตรสุข การเกษตรที่สร้างความสุขทุกกระบวนการในหลากหลายมิติ (สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สังคมดี สิ่งแวดล้อมดี) ให้แก่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นแนวทางไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

      หากท่านใดสนใจจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณกวาง (นายสำเริง เชยชื่นจิตร) เกษตรกรคนเก่งของเรา สามารถติดต่อได้ที่ 82/3 หมู่ 9 ตำบลดงกลาง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66170 โทรศัพท์หมายเลข 08 7382 5564