จัดงานวันยุวเกษตรกรโลก “4-H Go For Green” หวังสร้างเกษตรกรยุคใหม่ที่มีคุณภาพทดแทนคนรุ่นเก่าในอนาคต

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร จัดงานวันยุวเกษตรกรโลก “4-H Go For Green” ยุวเกษตรกรไทยรักโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เผยเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จะสนับสนุนแนวทางขับเคลื่อนงานพัฒนายุวเกษตรกรเพื่อเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ ทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่า ในอนาคต

     นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการสร้างทายาทเกษตรรุ่นใหม่ ด้วยการส่งเสริมการรวมกันของเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มยุวเกษตรกร และพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรให้กับกลุ่มยุวเกษตรกร ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานของการสร้างบุคลากรภาคการเกษตรในอนาคตที่ดี เพื่อทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่า

     ดังนั้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานกลุ่มยุวเกษตรกรในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เจ้าหน้าที่และผู้สนใจในด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จะสนับสนุนแนวทางขับเคลื่อนงานพัฒนายุวเกษตรกร

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง

     กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดจัดงานวันยุวเกษตรกรโลก (Global 4-H Day) ขึ้นในวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องประชุม 7 ชั้น 5 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมดำเนินการถ่ายทอดสัญญาณผ่านช่องทางเพจ “Facebook ประชาสัมพันธ์กรมส่งเสริมการเกษตร”

     กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การสาธิตกิจกรรมยุวเกษตรกร อาทิ กิจกรรมการผลิตอาหารสัตว์ลดต้นทุน กิจกรรมจิตอาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (รีไซเคิลขยะพลาสติก) และกิจกรรมการขยายพันธุ์ไม้ประดับด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่อด้วยการเสวนาในหัวข้อ “ยุวเกษตรไทยรักโลก รักษ์สิ่งแวดล้อม” การแข่งขันตอบปัญหาชิงรางวัล และการมอบรางวัลการประกวดคลิปไวรัล อีกด้วย

      อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรไว้ 6 แนวทาง ประกอบด้วย 1) ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับยุวเกษตรกรอย่างมีศักยภาพ โดยสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ทักษะการทำงานเป็นทีมของกลุ่มยุวเกษตรกร และเสริมสร้างความเป็นผู้นำ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing)

     2) ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรให้ครอบคลุมต่อความต้องการการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ และลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนรู้และขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการวิชาการด้านการเกษตรให้แก่เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร

     3) ส่งเสริมกลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกลุ่มยุวเกษตรกร การปฏิบัติงานของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และการประเมินผลกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ

      4) สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกัน สนับสนุนการเปิดโลกทัศน์ และต่อยอดให้ยุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ระหว่างกัน อันนำไปสู่การพัฒนางานยุวเกษตรกรได้รอบด้านและทันต่อสถานการณ์

     5) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนายุวเกษตรกร โดยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้าใจ ในการดำเนินงานยุวเกษตรกรให้สามารถปฏิบัติงานขับเคลื่อนพัฒนางานยุวเกษตรกรไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ และ 6) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนางานยุวเกษตรกรเชิงรุก เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ เชื่อถือและเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการพัฒนายุวเกษตรกร อันนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานที่ดีของชุมชนต่อไป

      ทั้งนี้การส่งเสริมยุวเกษตรกรเริ่มขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2495 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ  ต่อมาในปี 2496 ประเทศไทยมีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูเกษตรกรในนิคมสร้างตนเองบางปะกง ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษาธิการ สำนักจัดความมั่นคงร่วมกันของสหรัฐอเมริกา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม ดำเนินโครงการทดลองส่งเสริมการปลูกพืชทำสวนครัว และเลี้ยงสัตว์แก่เยาวชนที่โรงเรียนพรหมานุเคราะห์ จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นครั้งแรก และได้จัดตั้ง 4-H Club ขึ้นในประเทศไทย โดยนำรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา

    กระทั่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจาก 4-H Club เป็น “หน่วยยุวกสิกร” และในปี พ.ศ. 2518 ได้เปลี่ยนเป็น “กลุ่มยุวเกษตรกร” เพื่อให้สอดคล้องกับงานของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรแล้ว จำนวน 5,292 กลุ่มทั่วประเทศ