นักสัตววิทยา มก.ค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก หายาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มีที่น่านเท่านั้น

  •  
  •  
  •  
  •  

นักสัตววิทยา ม.เกษตร ค้นพบแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก Paegniodes sapanensis เผยเป็นชนิดที่หายาก เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในไทยพบที่น้ำตกสะปัน อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เผยทั่วโลกพบเพียง 2 ชนิด มีเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

          รศ.ดร. บุญเสฐียร  บุญสูง อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เปิดเผยถึงความสำเร็จในการค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวหายาก ชนิดใหม่ของโลก Paegniodes sapanensis ซึ่งเป็นชนิดที่หายาก พบได้น้อย ทั่วโลกพบเพียง 2 ชนิด และพบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น คือ จีน ฮ่องกง ทิเบต 1 ชนิด เวียดนาม 1 ชนิด (พบเมื่อ ค.ศ. 2004) สำหรับประเทศไทย การค้นพบแมลงชีปะขาวหายาก ชนิดใหม่ของโลกครั้งนี้  พบเป็นครั้งแรก และเป็นชนิดที่ 3 ของสกุล Paegniodes  ซึ่งพบได้ที่ลำธารน้ำตกสะปัน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านเท่านั้น

         คณะวิจัยที่ร่วมกันค้นพบ  ได้แก่ รศ.ดร. บุญเสฐียร  บุญสูง อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ดร. ชลกรานต์ อวยจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สุขภาพ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จังหวัดนครปฐม Dr. Michel Sartori สังกัด Museum of Zoology (MZL) เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส และนายณัฐกันต์ ขันยม นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

        สำหรับที่มาของการค้นพบครั้งนี้   เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจความหลากชนิดของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวในลำธาร อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ภายใต้โครงงานวิจัยนิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 คือ  นายณัฐกันต์ ขันยม พบว่าในพื้นที่ดังกล่าว มีความหลากชนิดของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวค่อนข้างสูง และงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG4-161004)

      รศ.ดร. บุญเสฐียร กล่าวอีกว่า แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ อยู่ในสกุล Paegniodes Eaton, 1881 วงศ์ Heptageniidae มักเรียกชื่อสามัญทั่วไปวงศ์นี้ว่า แมลงชีปะขาวตัวแบน หรือ หัวโต เนื่องจากส่วนหัวมีขนาดใหญ่และลำตัวแบนชอบเกาะกับก้อนหินบริเวณน้ำไหลได้ดี ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Paegniodes sapanensis Boonsoong, Sartori & Auychinda, 2021 โดยตั้งชื่อตามสถานที่พบครั้งแรก และเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่แหล่งอาศัยที่พบไว้ ถิ่นกำเนิดของแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ สกุล Paegniodes Eaton, 1881 วงศ์ Heptageniidae

       สกุลนี้ถูกตั้งชื่ออย่างถูกต้องเมื่อปี ค.ศ. 1881 ทั่วโลกพบเพียง 2 ชนิด และพบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ได้แก่ จีน ฮ่องกง ทิเบต 1 ชนิด เวียดนาม 1 ชนิด (พบเมื่อ ค.ศ. 2004) ความรู้เกี่ยวกับแมลงชีปะขาวสกุลนี้มีน้อยมากเนื่องจากพบได้ไม่บ่อยและหายาก มีการกระจายตัวในระบบนิเวศที่จำเพาะ และยังมีรายงานการพบค่อนข้างน้อย ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุลนี้มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากสกุลอื่น คือ แผ่นเหงือกคู่ที่ 1 ลดรูป ส่วนคู่ที่ 2-7 พัฒนาดี แพนหางมีแถวขนยาวชัดเจน ริมฝีปากบนมีความกว้างมากกว่าความยาว ลักษณะผิวไข่ยังมีความเฉพาะในสกุลนี้

 

      แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ที่พบนี้ พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทยและเป็นชนิดที่ 3 ของสกุล Paegniodes มีลักษณะคล้ายกับชนิด P. cupulatus (Eaton, 1871) แต่มีลักษณะแตกต่างกัน คือ แผ่นเหงือกคู่ที่ 1 โครงสร้างปาก และลักษณะตัวเต็มวัย นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอบาร์โค้ดด้วยยีน COI เทียบกับชนิด P. cupulatus พบว่ามีค่าระยะห่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิด (interspecific genetic distance) สูงถึงร้อยละ 11 ช่วยยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่

 

     ในด้านความหลากหลายและการอนุรักษ์พืชและสัตว์ชนิดใหม่ของโลกที่มีการค้นพบนั้น รศ.ดร. บุญเสฐียร  ให้ความเห็นว่า การค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวหายากชนิดใหม่ของโลก นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยแล้ว ยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศจำเพาะต่อการดำรงชีวิตของแมลงชีปะขาวหายากสกุลนี้ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้

จากการสำรวจความหลากหลายของแมลงชีปะขาวในประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี คณะผู้วิจัยพบแมลงชีปะขาวสกุลนี้ที่น้ำตกสะปัน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่านเท่านั้น ตัวอ่อนชนิดนี้พบอาศัยในลำธารต้นน้ำที่มีคุณภาพน้ำดีมาก อยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง การอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำและพื้นที่ป่าจะช่วยคงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศมีความเกื้อหนุนกัน ข้อมูลความจำเพาะระบบนิเวศของสัตว์น้ำจืดเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในแหล่งน้ำ และผลักดันการวิจัยในอนาคต เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการจัดการด้านอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยต่อไป