ทีมนักวิจัยร่วม มก.-ม.บูรพา ค้นพบหอยทากจิ๋วปากแตร ชนิดใหม่และเล็กที่สุดของโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

ทีมนักวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพา ค้นพบหอยทากจิ๋วปากแตร ชนิดใหม่ของโลก “Angustopila pallgergelyi” ที่ จังหวัดสระแก้ว และมีขนาด 0.64 มิลลิเมตร ถือว่าเล็กที่สุดในโลก

     ดร.กรอร วงษ์กำแหง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เปิดเผยว่า ล่าสุดทีมนักวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยบูรพา ได้ค้นพบหอยทากจิ๋วปากแตรชนิดใหม่ของโลก โดย ทีมผู้วิจัยเกี่ยวกับความหลากชนิดของหอยทากจิ๋วบริเวณเขาหินปูนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว

      สำหรับนักวิจัยทีมนี้ประกอบด้วย ผศ.พงษ์รัตน์ ดำรงโรจน์วัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับ ดร.กรอร วงษ์กำแหง ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนางสาวศิริลันธน์ เชื้อนิตย์ นิสิตภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ค้นพบหอยจิ๋วปากแตรชนิด Angustopila pallgergelyi จากถ้ำเพชรโพธิ์ทอง จังหวัดสระแก้ว โดยมีขนาด 0.64 มิลลิเมตร โดยหอยชนิดนี้ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติกับ Dr. Barna Páll-Gergely นักสังขวิทยาชาวฮังการี

      การค้นพบครั้งนี้นอกจากจะเป็นรายงานหอยชนิดใหม่ของโลกแล้ว ยังเป็นรายงานหอยที่เล็กที่สุดในโลกอีกด้วย โดยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร RAFFLES BULLETIN OF ZOOLOGY ฉบับที่ 69 เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา หอยจิ๋วชนิดนี้ พบอาศัยอยู่เฉพาะภายในถ้ำที่เป็นเขาหินปูน และมีเขตการกระจายแคบ

    หอยกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก จึงมีความสามารถในการแพร่กระจายจำกัด โดยหอยจิ๋วบางชนิดอาจพบเพียงเขาหินปูนเพียงลูกเดียว ไม่สามารถกระจายไปในบริเวณอื่นได้ ปัจจุบันเขาหินปูนก็เป็นอีกระบบนิเวศที่มีการรบกวนหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดภูเขา การปรับภูมิทัศน์ การติดไฟในถ้ำเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรบกวนระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่หลงสำรวจกลุ่มนี้ และอาจทำให้หอยจิ๋วบางชนิดสูญพันธุ์ไปอย่างถาวร

ข่าวโดย…ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์