คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบโคพีพอดสกุล Tropodiaptomus ชนิดใหม่ของโลก บริเวณนาข้าวและสระน้ำ ใกล้แม่น้ำสงคราม จังหวัดบึงกาฬ เผยบ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของโคพีพอดสูงมาก ระบุเป็นกลุ่มครัสเตเชียนเช่นเดียวกับ กุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า
สำหรับคณะนักวิจัยที่ค้นพบโคพีพอดสกุล Tropodiaptomus ชนิดใหม่ของโลก ในครั้งนี้ประกอบด้วย นางสาวธนิดา แซ่ตั้ง นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาวิชาสัตววิทยา ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ รศ. ดร. สุปิยนิตย์ ไม้แพ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก และ . ดร.ละออศรี เสนาะเมือง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งค้นพบบริเวณนาข้าวและสระน้ำ ใกล้แม่น้ำสงคราม จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งนับว่าเป็นโคพีพอดสกุล Tropodiaptomus ที่พบได้ยากยิ่ง และบ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของโคพีพอดสูงมาก
รศ.ดร. สุปิยนิตย์ เปิดเผยถึงที่มาของการค้นพบว่า เนื่องมาจากนางสาวธนิดา แซ่ตั้ง นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาวิชาสัตววิทยา ได้ศึกษาวิทยานิพนธ์เรื่องการจัดระบบของสกุล Tropodiaptomus ที่พบในประเทศไทย ซึ่งเป็นสกุลที่มีปัญหาทางด้านอนุกรมวิธานและเป็นสกุลที่พบได้ยาก โดยทีมวิจัยได้สำรวจในพื้นที่ที่เคยมีรายงานการพบสกุลนี้ก่อนหน้า แต่แหล่งน้ำที่เคยรายงานการพบ Tropodiaptomus ชนิดหนึ่ง ใน จังหวัดบึงกาฬ หายไป ผู้วิจัยจึงได้เก็บตัวอย่างจากแหล่งน้ำใกล้เคียง (ภาพนาข้าว) หลังจากศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาจึงสามารถยืนยันได้ว่าตัวอย่างที่ได้เป็น โคพีพอดสกุลนี้และเป็นชนิดใหม่ของโลก งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับทุนวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG4-161004) ทุนวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทุนพัฒนาบัณฑิตศึกษาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
โคพีพอดชนิดใหม่ของโลกที่ต้นพบในครั้งนี้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tropodiaptomus megahyaline Saetang, Sanoamuang & Maiphae, 2021 โดย specific epithet ตั้งจากลักษณะทางสัณฐานเฉพาะของชนิดนี้ คือ ขาคู่ที่ 5 ทั้งข้างซ้ายและขวาของเพศผู้ มี hyaline lamella ขนาดใหญ่ กล่าวคือ มีลักษณะเด่นในเพศผู้เต็มวัยที่แตกต่างจากชนิดอื่น คือ บริเวณขอบด้านในของปล้องเบซิส (Basis) ของขาคู่ที่ 5 ทั้งข้างซ้ายและขวา มี hyaline lamella ซึ่งมีขนาดใหญ่เห็นได้ชัดเจน เอ็กโซพอดปล้องที่ 2 ของขาคู่ที่ 5 ข้างขวาเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนโคนของปล้องแคบกว่าส่วนปลาย และขอบด้านนอกบริเวณส่วนปลายของปล้องดังกล่าว มีหนามไฮยาไลน์รูปสามเหลี่ยม ซึ่งเห็นได้ชัดเจน จำนวน 1 อัน รวมถึงบริเวณขอบด้านในของปล้องเอ็กโซพอด (Exopod) ของขาคู่ที่ 5 ข้างซ้ายโค้ง มีรอยหยักคล้ายซี่ฟัน จำนวน 2 ชุด ซึ่งมีขนาดแตกต่างกัน โดยชุดฟันที่เรียงอยู่บริเวณโคนถึงกึ่งกลางของปล้องมีขนาดใหญ่กว่าปลายปล้อง
รศ.ดร. สุปิยนิตย์ กล่าวอีกว่า โคพีพอดเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่จัดอยู่ในกลุ่มครัสเตเชียนเช่นเดียวกับ กุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปตัวเต็มวัยมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร สามารถพบได้ทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และทะเล โดยในระบบนิเวศจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน จึงมีการนำโคพีพอดหลายชนิดมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำเศรษฐกิจทั้งสัตว์น้ำจืดและสัตว์ทะเล เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการรอดของสัตว์น้ำวัยอ่อน
จากการรายงานวิจัยในปัจจุบัน บ่งชี้ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของโคพีพอดสูงมาก และแม้จะมีรายงานการพบโคพีพอดชนิดใหม่จำนวนมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีการค้นพบโคพีพอดชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามการศึกษาที่เข้มข้นขึ้นในแหล่งอาศัยที่หลากหลาย เช่น การศึกษาในถ้ำ หรือในแหล่งน้ำชั่วคราว เช่น นาข้าว ที่พบโคพีพอดชนิดใหม่ในการศึกษาครั้งนี้
ดงนั้นแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรหรือเป็นขุมทรัพย์แห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่เพียงแต่กลุ่มโคพีพอดนี้แต่รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย ซึ่งการมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากนี่เองที่จะทำให้เรามีโอกาสเลือกชนิดพันธุ์ที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ได้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นด้านการเพาะเลี้ยง หรือแม้แต่การเลือกตัวอย่างเพื่อเป็นโมเดลในการศึกษาวิจัยชีววิทยาเชิงลึกต่อไปได้
นอกจากนี้การค้นพบโคพีพอดสกุล Tropodiaptomus ชนิดใหม่นี้ยืนยันถึงความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรในประเทศไทย เนื่องจากเป็นสกุลที่พบได้ยาก หากพบก็จะพบจำนวนตัวน้อย และยังมีการกระจายในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้น้อยมาก และปัจจุบันยังไม่ทราบลักษณะจำเพาะของแหล่งอาศัยของสกุลนี้แน่ชัด อย่างไรก็ตามเบื้องต้นพบว่ามักพบกระจายอยู่ในแหล่งน้ำชั่วคราว ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกทำลาย ไม่ว่าจะโดยธรรมชาติหรือหลายกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่ามีตัวอย่าง Tropodiaptomus อีกจำนวนหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นชนิดใหม่และรอรายงานต่อไปด้วย ดังนั้นหากแหล่งอาศัยถูกทำลายจะส่งผลทำให้โคพีพอดที่มีอยู่หรือยังไม่ถูกค้นพบลดลงและหายไปก่อนที่จะถูกค้นพบได้