ซีพีเอฟ เดินหน้ามีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่าตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นทางจัดหาวัตถุดิบถูกกฎหมายและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า พร้อมปลูกฝังพนักงานในองค์กร เพิ่มพื้นที่สีเขียวในฟาร์ม โรงงาน และชุมชน สร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยกำหนดกลยุทธ์ 3 เสาหลัก ประกอบด้วย อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจตามวิสัยทัศน์ครัวของโลก ที่มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
“บริษัทมุ่งมั่นมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่ป่าตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งที่ยั่งยืน ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินรับรอง ส่งเสริมให้คู่ค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ตลอดจนส่งเสริมและให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจากกระบวนการในห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟตั้งแต่ต้นทาง ณ พื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย SDGs” นายวุฒิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องใน“วันป่าไม้โลก” ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี ซีพีเอฟ มุ่งมั่นมีส่วนร่วมและปลูกฝังพนักงานในองค์กรร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความอุดมสมบูรณ์ของอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์ และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญ โดยส่งเสริมการดำเนินโครงการปลูกป่าทั้งในประเทศไทยและกิจการในต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย ตุรกี
สำหรับในไทย ซีพีเอฟร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลน ซี่งในระยะที่หนึ่ง(ปี 2559-2563) ของการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ภายใต้โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 5,971 ไร่ และโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ระยะที่หนึ่ง (ปี 2557-2561) อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า 2,388 ไร่ รวมทั้งดำเนินโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ปลูกฝังพนักงานปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการของบริษัททุกแห่งทั่วประเทศ 1,720 ไร่
นอกจากนี้ ปลายปี 2563 บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในโครงการปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าบกและป่าชายเลน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26,000 ไร่ มุ่งสู่การมีส่วนร่วมปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารและสร้างสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า ซีพีเอฟ ยังได้สนับสนุนแนวทางฟาร์มสีเขียว (Green Farm) พัฒนาฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน สร้างธุรกิจฟาร์มสุกรรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจัดทำเป็นสวนป่านิเวศในฟาร์มสุกร เช่น โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร โดยนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการเลี้ยงสุกรและมูลสุกรไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เช่น น้ำปุ๋ยจากมูลสุกรที่ผ่านการบำบัดในกระบวนการผลิต นำไปรดต้นไม้ ใส่ปุ๋ยมูลสุกรให้ต้นไม้ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาโครงการฯ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ป่านิเวศชุมชน และโครงการหนองหว้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีพื้นที่ว่างของชุมชนที่ต้องการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการปลูกป่าชุมชนมาตั้งแต่ปี 2559 และสามารถพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ป่านิเวศในชุมชน
“การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบของซีพีเอฟ ไม่เพียงมีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่ป่า ส่งเสริมชุมชนให้ร่วมดูแล ฟื้นฟู และอนุรักษ์ป่า แต่ให้ความสำคัญกับการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายความสำเร็จอย่างแท้จริง ในการสร้างสมดุลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” นายวุฒิชัย กล่าว
ภายใต้กลยุทธ์สู่ความยั่งยืนด้านดินน้ำป่าคงอยู่ ซีพีเอฟ ได้บูรณาการเป้าหมาย SDGs มาใช้กับการดำเนินงาน ซึ่งสอดรับกับ SDGs ข้อ 2 คือ ยุติความหิวโหย ข้อ 6 การจัดให้มีน้ำสะอาดและสุขอนามัยส่วนบุคคล ข้อ 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด ข้อ 12 การบริโภคด้วยความรับผิดชอบ ข้อ 13 การปกป้องโลกจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ข้อ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ข้อ 15 การปกป้องและฟื้นฟู ระบบนิเวศ และข้อ 17 สร้างความแข็งแกร่งของการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก