“สามพรานโมเดล”  เปิดทริปแรก “ท่องเที่ยว-เรียนรู้วิถีอินทรีย์” สัมผัสชีวิตจริงกว่า 200 ครัวเรือน

  •  
  •  
  •  
  •  

       “การเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ นั้นถือเป็นภาคต่อของการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล หรือโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่สะท้อนการเป็นพันธมิตรระยะยาว ระหว่างสวนสามพรานและเกษตรกรอินทรีย์ ที่วันนี้กำลังก้าวไปสู่การยกระดับ ให้เกษตรกรอินทรีย์ก้าวไปอีกขั้น จากผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ สู่การท่องเที่ยว”

       จากประสบการณ์ทำงานขับเคลื่อน “สามพรานโมเดล” หรือโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม เชื่อมโยงห่วงโซ่อินทรีย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มายาวนานกว่า 10 ปี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วันนี้สวนสามพราน โดย “อรุษ นวราช” ผู้บริหารสวนสามพราน และผู้ริเริ่มสามพรานโมเดล พร้อมแล้วที่จะเปิดชุดความรู้ เปิดพื้นที่ และเปิดบทเรียนจากประสบการณ์การขับเคลื่อนให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาสัมผัส และมีส่วนร่วมในรูปแบบการท่องเที่ยว-เรียนรู้วิถีอินทรีย์หลากหลาย โดยมีเกษตรกรอินทรีย์ในเครือข่ายเกือบ 200 ครอบครัว ทั้งในพื้นที่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ เชียงราย อำนาจเจริญ  พิษณุโลก ฯลฯ ให้เลือกไปร่วมเรียนรู้ได้ตลอดทั้งปี

       สามพรานโมเดล เปิด สำหรับกิจกรรมเรียนรู้-ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เป็นทริปแรก เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา จะเป็นเส้นทาง “สวนสามพราน-คลองบางแก้ว” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มเครือข่ายสามพรานโมเดล อ.นครชัยศรี  จ.นครปฐม ที่เน้นให้เห็นความเชื่อมโยง ห่วงโซ่คุณค่าของโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม  ระหว่างสวนสามพรานกับเกษตรกรที่มาเป็นพันธมิตรกัน และเห็นความเชื่อมโยงของการทำเกษตรอินทรีย์ กับการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งในแปลงอินทรีย์จะมีการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนไปโดยปริยาย เช่น เกษตรกรเลี้ยงเป็ดไก่ ก็เอามูลไก่ มูลเป็ดมาทำปุ๋ย รวมถึงขยะอาหารจากครัวเรือน     ก็เอาไปทำปุ๋ย แล้วหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ในแปลงต่อ ทำให้ลดต้นทุน พึ่งพาตนเองได้

                                                            อรุษ นวราช 

     อรุษ บอกว่า การเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้-ท่องเที่ยววิถีอินทรีย์ นั้นถือเป็นภาคต่อของการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล หรือโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม ที่สะท้อนการเป็นพันธมิตรระยะยาว ระหว่างสวนสามพรานและเกษตรกรอินทรีย์ ที่วันนี้กำลังก้าวไปสู่การยกระดับ ให้เกษตรกรอินทรีย์ก้าวไปอีกขั้น จากผู้ผลิตอาหารอินทรีย์ สู่การท่องเที่ยว ที่ปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของคนในสังคม ทั้งอยากกินอาหารพืชผักอินทรีย์    ที่มั่นใจ อยากมีสุขภาพดี อยากปลูกเป็น ทำได้เอง  อยากพาครอบครัวมาสัมผัส  มาเจอเกษตรกรจริงๆ อยากตามหาชีวิตที่มีความหมาย รวมถึงหน่วยงานที่อยากทำซีเอสอาร์แบบยั่งยืน ทำธุรกิจเกื้อกูลสังคมนั่นเอง

       สำหรับทริปแรก เน้นให้เห็นกระบวนการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ของสวนสามพรานที่แสดงให้เห็นขั้นตอนการจัดการขยะอาหาร Food Waste Management   ที่เศษขยะอาหารเหลือจากส่วนงานต่างๆ จะถูกนำไปแปรรูปเป็น ไบโอแก๊ส นำไปเลี้ยงไส้เดือน นำไปทำน้ำยาล้างจาน ทำปุ๋ยหมักและผลิตน้ำมันไบโอดีเซล  โดยทุกส่วนจะถูกหมุนเวียนนำกลับมาใช้ในสวนสามพราน เช่น เชื้อเพลิงจากไบโอแก๊ส ใช้ในการต้มเปลือกมะพร้าวเหลือทิ้งเพื่อย้อมผ้า

นอกจากนี้ทุกคนยังได้เห็นกระบวนการพึ่งพาตนเองของสวนสามพราน ที่ทำให้ลดต้นทุน เช่น ปุ๋ยมูลไส้เดือน ก็นำไปเลี้ยงพืชต่อ หรือส่งขายที่ตลาดสุขใจ รวมถึงเห็นกระบวนการเตรียมดินปลูกแต่ละชนิด ที่มีส่วนผสมของ แกลบ มูลสัตว์ต่างๆ ใบไม้ เห็นการเก็บเมล็ดพันธุ์ใช้เองการนำผลผลิตที่ปลูกไปแปรรูป เช่น การทำน้ำส้มสายชูจากกล้วย

      ในทริปเรียนรู้วิถีอินทรีย์ ทุกคนยังได้เห็นเส้นทางข้าวจากโรงสีของสวนสามพราน ที่ซื้อเปลือกจากเกษตรกรมาสีเอง โดยแกลบที่ได้จะถูกส่งไปฟาร์ม เพื่อทำปุ๋ย หากมีเหลือก็ขายให้เกษตรกรอินทรีย์เพื่อนำไปทำปุ๋ย ส่วนปลายข้าว และรำ ก็จะถูกส่งไปเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ของฟาร์ม มูลเป็ด มูลไก่ ที่ได้ก็นำมาทำปุ๋ยบำรุงต้นไม้ ใส่แปลงผัก หมุนเวียนเป็นวงจรโดยไม่มีส่วนไหนเหลือทิ้ง

      อีกหนึ่งไฮไลท์ของทริปนี้ คือ ทุกคนได้ไปลงพื้นที่สัมผัสท่องเที่ยวฟาร์มจริงที่ ไร่อาปื๊ดกะ  โอปอ ต.คลองบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ที่นี่ได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเองและเศรษฐกิจหมุนเวียนตามวิถีเกษตรอินทรีย์ เช่น การทำปุ๋ยพืชสดหมักในถุงไม่กลับกองที่ใช้วัตถุดิบในแปลงมาทำ เทคนิคการตอนกิ่งฝรั่ง  การห่อฝรั่ง และชมแปลง พร้อมให้ทุกคนได้ชิมความอร่อยของฝรั่งกิมจูเก็บสดๆ จากต้น

     

นิรัญ- สุนันท์ จันทร์ไทย

      นิรัญ (ปื๊ด) และ  สุนันท์ (ปอ) จันทร์ไทย สองสามีภรรยา เจ้าของไร่อาปื๊ดกะโอปอ ที่ชวนกันทิ้งงานประจำ หันมาจับจอบจับเสียมรับหน้าที่เป็นเกษตรกรสานต่ออาชีพของแม่ แชร์ประสบการณ์จริงให้ฟังว่า เดิมทำงานประจำที่เทศบาลไร่ขิง และ ภรรยาเป็นพยาบาล แต่ทั้งคู่ตัดสินใจลาออกจากงาน มาปลูกผักเพื่อรักษาแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็ง

     “ผมบอกกับตัวเองว่า เราเลือกแล้ว ต้องทำให้เต็มที่ และเดินหน้าไปให้สุด ไปให้เต็มตัว เริ่มเรียนรู้ จนได้รับคำแนะนำจากสามพรานโมเดลให้ทำเกษตรอินทรีย์จริงจังเลย เราเห็นโอกาสทาง มีตลาดรองรับแน่นอน มีรายได้มั่นคง ภรรยาจึงตัดสินใจออกจากงานมาทำเกษตรอินทรีย์เต็มตัว” นิรัญ สะท้อนความตั้งใจของเขา

       จากวันนั้นถึงวันนี้ 10 ปีแล้ว ปื๊ดและคุณปอ สองเกษตรกรอินทรีย์ ยิ้มด้วยความภูมิใจ แม้รายได้ไม่เท่ากับเงินเดือนที่เคยรับแต่ได้อยู่พร้อมหน้า แม่อาการดีขึ้น  และมีสุขภาพแข็งแรง กำไรอีกต่อคือ มีความสุขที่ได้แบ่งปันสุขภาพดีให้กับผู้บริโภค รอยยิ้มของแม่และลูกค้า คือ พลังที่ส่งให้พวกเขาและเธอา มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลผลิตให้ได้คุณภาพ เพื่อให้ทุกคนได้รับอาหารที่ดีและปลอดภัย

       ปื๊ด ฝากให้ทุกคนได้เรียนรู้ คือ หลักคิดจากประสบการณ์ในการทำฟาร์มจริง อาทิ การทำเกษตรอินทรีย์ต้องเริ่มที่ใจรัก ไม่ใช่เริ่มที่เงิน เพราะหลายอย่างต้องทำเอง ใช้เอง ต้องเอาใจใส่ดูแลแปลง แดดร้อน ฝนตกอย่างไร ก็ต้องทำ,   การทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีเพื่อน นั่นคือมีการรวมกลุ่ม เพราะการรวมกลุ่มทำให้เรามีเพื่อน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้ระบบรับรองแบบมีส่วนร่วม PGS  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เข้มแข็ง


     นอกจากนี้ การทำเกษตรอินทรีย์ต้องรู้จักพึ่งพาตนเอง ยึดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อช่วยลดต้นทุน โดยเฉพาะปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพ สารไล่แมลงต่างๆ ต้องทำเอง นำสิ่งที่มีในแปลง เช่น ใบไม้ มูลสัตว์ สมุนไพรต่างๆ รวมถึงเศษอาหารในครัวเรือน หมุนเวียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราต้องซื้อปัจจัยการผลิตเหล่านี้ จะอยู่ไม่ได้เลย จะเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด

      ที่สำคัญ การทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีการวางแผน เริ่มตั้งแต่เตรียมแปลง การดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยว  เพราะแต่ละวัน แต่ละช่วงเวลา อากาศไม่เหมือนกัน เราต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติมากที่สุด,พร้อมบอกว่า    การทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ พร้อมยกระดับไม่ปิดกั้นความรู้ หรือ เครื่องมือใหม่ๆ เช่น การใช้ Thai Organic Platform ในการบันทึกแปลง ที่สามารถพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่า เรามีตัวตน ทำเกษตรอินทรีย์จริง โชว์ขั้นตอนได้หมด สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ น่าเชื่อถือ

      สำหรับหน่วยงาน องค์กร หรือ ผู้บริโภคที่สนใจ ศึกษาโมเดลธุรกิจเกื้อกูลสังคม และเรียนรู้เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ติดต่อได้ที่สวนสามพราน โทร. 034-322588-93   ทั้งนี้สามารถปรึกษาโปรแกรมการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีอินทรีย์อื่นๆ ได้ที่สมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ติดต่อ  ศริธร กิจกอบชัย  โทร.064 295 4289 หรือสมัครแพลตฟอร์ม www.Thaiorganicplatform.com