สหรัฐอเมริกากำลังประสบปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ผู้ท้าชิงอย่างจีนมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่มีขุมกำลัง และความพร้อม ขาดอย่างเดียวคือเวลา
ท่ามกลางการวัดพลังด้านเศรษฐกิจกันระหว่างจีนและสหรัฐฯในสงครามการค้าซึ่งดุเดือดมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังไม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ ซ้ำร้ายหากยังบานปลายมากกว่าที่เป็นคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้คงย่ำแย่กว่าที่ผ่านมาเป็นแน่ แต่ทว่า ผลจากการที่ทั้งสองฝ่ายต่าง ‘ซุ่มดูเชิง’ระหว่างกัน ไม่ได้ผลีผลามเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศสงครามการค้าที่ ร้อนระอุ ดูจะเย็นสบายขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังเร็วไปที่จะด่วนสรุป คงต้องติดตามรอดูเส้นตายในวันที่ 31 มีนาคม 2562 นี้ ซึ่งจะมีการเจรจาปัญหาสงครามการค้าของทั้ง 2 ประเทศ และการเผชิญหน้ากันอีกครั้งระหว่าง ‘สี จิ้นผิง’ ผู้นำสูงสุดของจีนและ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เป็นที่ทราบดีว่า ภายใต้การจุดชนวนสงครามการค้า ที่เปิดฉากโดยสหรัฐฯ ที่มองว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้ากับจีน ทั้งสหรัฐฯ มียอดขาดดุลการค้ากับจีนที่มีมูลค่าสูงที่สุดราว 3.75 แสนล้านดอลลาร์ และการมุ่งนโยบาย America first ทรัมป์ ซึ่งได้ตอบโต้ด้วยมาตรการภาษี 25 % ในกลุ่มสินค้าหลักที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งตามที่ท่านผู้อ่านทราบดี จีนก็ตอบโต้ในทำนองที่คล้ายๆ กัน รวมทั้งการตอบโต้เชิงกระทบกระเทียบ อาทิ กรณีหัวเหว่ย และไอโฟน
ทั้งหมดนี้ ‘ทรัมป์’ ทำไปเพราะความ ‘บ้าดีเดือด’อย่างนั้นหรือ ไม่น่าจะใช่ จากมุมมองที่ทรัมป์เคยทำธุรกิจ และเคยล้มละลาย และกลับมารุ่งเรืองได้อีกครั้ง เขาน่าจะมองอะไรที่มากกว่า ความ ‘ระห่ำ’ตามพื้นเพเดิมๆที่แสดงออก แต่ สหรัฐอเมริกากำลังกลัวจีนแซงหน้าผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ! หรือเปล่า ? เลยต้องงัดวิธีชกใต้เข็มขัด
ท่านผู้อ่านคงเคยอ่านรายงานประมาณว่าเศรษฐกิจจีนจะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในอนาคตกันมาบ้าง แน่นอนว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ‘ทรัมป์’ ก็ต้องเคยได้ยินเรื่องนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง ในที่นี้เราจึงนำเสนอข้อมูลจากฝั่งจีน ที่เป็นข้อมูลที่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศจีน ศาสตราจารย์ ดร. จัสติน อี้ฟู หลิน หรือที่คนไทยคุ้นเคยในนาม ‘หลิน อี้ฟู่’ ที่ได้บรรยายไว้ในงานสัมมนาของศูนย์วิจัย SAFE (Sustainable Architecture for Finance in Europe) และ The Interdisciplinary Centre for East Asian Studies (Interdisziplinäre Zentrum für Ostasienstudien – IZO) มหาวิทยาลัยเกอเธ่ ได้จัดการบรรยายในหัวข้อ “The Economics of China’s New Era” โดยมีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้
ความเป็นไปได้ในการเป็นเบอร์หนึ่งเศรษฐกิจโลกของจีน
จีนได้ปฏิรูปเศรษฐกิจมากว่า 40 ปี โดยในปี ค.ศ. 1970 จีนมีรายได้ต่อประชากร (GDP per capita) ประมาณ 147 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเพิ่มเป็นประมาณ 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1978 มีมูลค่าการส่งออกเพียงประมาณร้อยละ 1 ของ GDP และมีมูลค่าการนําเข้าประมาณร้อยละ 6 ของ GDP โดยมีอัตราการบริโภคภายในประเทศประมาณร้อยละ 90 ของ GDP ในขณะที่ปี ค.ศ. 2018 GDP per capita ของจีนได้เพิ่มเป็น 9,740 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (High Middle Income) โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลําดับที่ 2 ของโลก และคาดว่าจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกภายในปี ค.ศ. 2030
ทั้ง จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่ไม่เคยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา และสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกประสบภาวะวิกฤติ เนื่องจากจีนได้ดําเนิน นโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และจะยังคงดําเนินต่อไป ที่ผ่านมารัฐบาลได้ริเริ่มการจัดตั้ง special economic zones การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการให้บริการในลักษณะ one stop service ให้กับภาคเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิต (labour intensive goods)
อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่จีนต้องแบกรับจากการดำเนินนโยบายการปฏิรูปที่ผ่านมา คือ 1.การทุจริตที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง และ 2.ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนระหว่างภูมิภาค
ขณะนี้จีนมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการสะสมของทุน (รวมถึงเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ) เพิ่มขึ้นเป็นจํานวนมาก ส่งผลให้แรงงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าได้มาก
แต่สิ่งที่จีนยังขาดอยู่ คือ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศกําลังพัฒนาประสบปัญหา ดังนั้น หากจะเปรียบเทียบระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกําลังพัฒนาว่ามีระดับการพัฒนาต่างกันมากน้อยเท่าไร จะต้องพิจารณาที่ช่องว่างของ GDP per capita โดยในปี ค.ศ. 2008 GDP per capita ของจีนคิดเป็นเพียงร้อยละ 21 ของ GDP per capita ของสหรัฐฯ ซึ่งเทียบเท่ากับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1951 สิงคโปร์ ในปี ค.ศ. 1969 และเกาหลีใต้ในปี ค.ศ. 1977
ทั้งนี้ หากจีนสามารถมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ร้อยละ 8-9 ต่อปี ไปได้อีก 10 ปี ก็น่าจะสามารถแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นมหาอํานาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกได้ในปี ค.ศ. 2028 เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 2.5 (ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตทาง เศรษฐกิจเพียงร้อยละ 1.4) ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วที่ร้อยละ 3 -3.5
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกําลังประสบปัญหาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงควรต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยการลดสิทธิประโยชน์ทางด้านสวัสดิการ และลดการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลของรัฐ เพื่อให้ประชาชนลดรายจ่าย
สั่งสม ยกระดับเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอาจไม่สามารถทําได้ในทางปฏิบัติเนื่องจากจะส่งผลกระทบกับฐานเสียงทางการเมืองจํานวนมาก ในช่วงที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจกัประเทศกําลังพัฒนา IMF มักจะแนะนําให้ประเทศเหล่านั้นลดค่าเงิน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก แต่ประเทศพัฒนาแล้วกลับเลือกใช้วิธีผ่อนปรนทางการเงินและลดอัตราดอกเบี้ยลงให้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก (บางแห่งติดลบ) เพื่อเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดแทน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ต่ำและฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ช้า จึงส่งผลเสียต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้มีรายได้น้อย และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนขยายตัวสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
สิ่งที่จีนต้องดําเนินการต่อไป คือ การลดการปกป้อง (protectionism) ในสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labour intensive) ซึ่งขณะนี้มีการจ้างงานถึง 124 ล้านคน เพื่อโยกย้ายฐานการผลิตสินค้าเหล่านี้บางส่วนไปยังประเทศกําลังพัฒนาอื่น ๆ และใช้นโยบายการคลังส่งเสริมให้มีการขยายการลงทุน เพื่อเพิ่มการจ้างงานและรายได้ให้กับประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป โดยคาดการณ์ว่า จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income)ภายในปี ค.ศ. 2025 และขณะนี้มีประชากรจีนประมาณ 700 ล้านคนที่หลุดพ้นออกจากสถานะความยากจน แต่ในการพัฒนาประเทศจําเป็นต้องมีรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดี และสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง
ทั้งใน ปัจจุบัน จีนได้เปลี่ยนสถานะของประเทศไปสู่การเป็นผู้ให้ในสังคมโลกมากขึ้น โดยมองว่า การช่วยเหลือประเทศกําลังพัฒนาจําเป็นต้องเริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นสําคัญ โดยจีนมีความพร้อมทั้งใน ด้านเงินทุน ซึ่งมีเงินทุนสํารองระหว่างประเทศสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะด้านวิศวกรโยธา และ ด้านวัตถุดิบ ได้แก่ เหล็กและซีเมนต์ จึงได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank – AIB) ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนกู้ยืมให้กับประเทศกําลังพัฒนา ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วย
ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า ‘หลิน อี้ฟู ’ มีมุมมองและความคาดหวังต่อเศรษฐกิจจีนเพียงใด ด้านหนึ่ง มองเคล็ดลับความสำเร็จของจีน ก็คือ การปฏิรูป อีกด้านหนึ่ง หันมาใช้กลไกตลาดและส่งเสริมการพัฒนาวิสาหกิจในประเทศ แต่ก็ไม่ได้ ปล่อยให้อุตสาหกรรมทุนเข้มข้นแต่เดิมล้มละลายตายจากไปในทันทีแต่ค่อยๆ ประคับประคอง และต่อยอดด้วยการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเปลี่ยนผ่าน
ก็ควรอยู่หรอกที่จะมีคนอยากสกัดกั้นเศรษฐกิจจีน …ก่อนที่จะก้าวไปสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกในไม่ช้า
ที่มา : bangkokbanksme.com