“วิศวกรปิโตรเลียม” ขาดแคลนหนัก เด็กจบใหม่แห่ทำงานเมืองนอก

  •  
  •  
  •  
  •  

แฟ้มภาพประกอบข่าว

“วิศวกรปิโตรเลียม-นักธรณีวิทยา” ขาดแคลน หลังเปิดประมูลปิโตรเลียมชะงักกว่า 10 ปี ราคาน้ำมันดิ่งยาว เร่ง ก.พลังงานเปิดประมูลรอบใหม่ต่อจากแหล่งบงกช-เอราวัณ ชี้นิสิตจบใหม่ ไม่เชื่อมั่นนโยบายรัฐ แห่ทำงานต่างประเทศ

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีแนวโน้มว่าบุคลากรด้านวิศวกรปิโตรเลียม และนักธุรกิจวิทยา รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านปิโตรเคมี และธรณีวิทยาจะขาดแคลน หรือหาได้ยากขึ้น เพราะแม้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเปิดประมูลแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย G1/61 หรือแหล่งเอราวัณ และ G2/61 หรือแหล่งบงกช ซึ่งจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลภายในเดือน ธ.ค. 2561 และมีแผนจะเปิดประมูลปิโตรเลียมแหล่งอื่น ๆ รอบใหม่ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการเปิดประมูลปิโตรเลียมล่าช้ามาก หลังชะงักมาตั้งแต่ปี 2550 หรือกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลากรด้านวิศวกรปิโตรเคมี และธรณีวิทยาในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมบางส่วนหันไปทำงานในต่างประเทศ หรือทำงานในธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่นแทน

ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำลงต่อเนื่อง จากเดิมที่ราคาอยู่ในระดับมากกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล พบว่า ในปัจจุบันภาวะราคาอยู่ที่ 70-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจปิโตรเลียมขาดทุนอย่างหนัก กระทบคนทำงานในธุรกิจสำรวจและผลิตที่ต่างเคลื่อนย้ายการทำงานไปสู่ธุรกิจอื่นแทนทั้งในและต่างประเทศ

ประมูลรอบใหม่ส่อขาดวิศวกร

นอกจากนี้กรณีดังกล่าวยังส่งผลกระทบถึงแรงงานส่วนสนับสนุนบนแท่นผลิต (platform) และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลากหลายด้าน อย่างผู้รับขุดเจาะหลุมผลิตซึ่งต้องขนย้ายเครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปยังพื้นที่อื่น ที่มีความต้องการใช้ เช่น ประเทศเมียนมา เวียดนาม กรมเชื้อเพลิงฯจึงมองว่ากระทรวงพลังงานต้องแสดงความชัดเจนว่าจะมีการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบใหม่หรือไม่ และเมื่อใด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักลงทุน รวมถึงวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญ และคนทำงานที่เกี่ยวข้องในธุรกิจสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดด้วย มิฉะนั้นอุตสาหกรรมปิโตรเลียมจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรมากขึ้นอีก

“เมื่อพ้นช่วงหลังจากประมูลเพื่อต่ออายุแหล่งบงกช และเอราวัณแล้วเสร็จในช่วงต้นปี”62 หากไม่เปิดประมูลรอบใหม่ คนทำงานในธุรกิจสำรวจจะหันไปสู่ธุรกิจอื่นมากขึ้น ในเมื่อคนไหลออกแล้วไม่มีมาเติม ปัญหาขาดแคลนจะเกิดขึ้นแน่”

บริษัทต่างชาติให้เงินดีกว่า

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเปิดเผยว่า อีกเหตุผลที่ทำให้ในประเทศไทยขาดแคลนวิศวกรปิโตรเลียม และนักธรณีวิทยา เป็นเพราะบุคลากรที่สำเร็จการศึกษา 2 สาขาวิชาชีพนี้บางส่วนเลือกทำงานในบริษัทต่างชาติ ส่วนหนึ่งมาจากอัตราผลตอบแทนที่ได้รับดีกว่า อย่างตำแหน่งวิศวกรปิโตรเลียมไม่มีประสบการณ์จะได้รับค่าตอบแทน 28,000-30,000 บาท/เดือน กรณีเป็นลูกจ้างบริษัทที่เป็น service contractor เช่น บจ.ชลัมเบอร์เจอร์ หรือฮัลลิเบอร์ตัน อัตราค่าจ้าง 30,000-35,000 บาท/เดือน เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ส่วนใหญ่รับพนักงานทั้งไทยและต่างชาติ อย่าง บจ.เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต มีพนักงานประจำ รวมกับผู้รับเหมา (contractor) เป็นคนไทย 93.68%, ต่างชาติ 6.32% เช่นเดียวกับ บจ.ชลัมเบอร์เจอร์ บจ.ฮัลลิเบอร์ตัน เป็นต้น ขณะที่ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (TTEP) มีพนักงานคนไทย 98.53% ต่างชาติ 1.47%

มหา”ลัยเปิดหลักสูตรน้อย

ในส่วนของการผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม แม้ปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนสาขาเกี่ยวกับวิศวกรรมปิโตรเลียม และธรณีวิทยา จะมีทั้งสายสามัญและสายอาชีพ แต่หลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอนมีค่อนข้างจำกัด โดยระดับอาชีวศึกษาที่เปิดสอนมี วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่ เปิดสอนระดับ ปวส. สาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม และสาขาเทคโนโลยีหลุมเจาะปิโตรเลียม ระดับปริญญาตรี มีสาขาเทคโนโลยีปิโตรเลียม ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, สาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียมและเทคโนโลยีธรณี ม.เทคโนโลยีสุรนารี

ส่วนด้านธรณีวิทยา ได้แก่ สาขาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สาขาเทคโนโลยีธรณี ม.ขอนแก่น, สาขาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ม.เกษตรศาสตร์, สาขาวิศวกรรมธรณี ม.เทคโนโลยีสุรนารี และสาขาธรณีศาสตร์ ม.มหิดล

เด็กจบใหม่แห่ทำงาน ตปท.

ด้าน รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้นิสิตหลักสูตรวิศวกรรมปิโตรเลียม บางส่วนจะได้ทุนจากบริษัทเอกชน อาทิ บจ.เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. โดยให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนกับนิสิตทุกคน พร้อมทั้งรับเข้าทำงานหลังเรียนจบ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บวกกับราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่งลง ภาคเอกชนได้ลดการสนับสนุนโดยให้ทุนการศึกษาลดลงด้วย

“หลักสูตรนี้ถือเป็นหลักสูตรท็อปของคณะ โอกาสในการทำงานไม่ได้มีแค่เฉพาะในเมืองไทย แต่ยังสามารถไปทำงานต่างประเทศได้ เด็กจึงเลือกไปหางานทำต่างประเทศมากกว่า เพราะเงินเดือน สวัสดิการดีกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้นิสิตที่เรียนจบหลักสูตรนี้กว่า 50% เลือกไปทำงานต่างประเทศ” รศ.ดร.สุพจน์กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม :https://www.prachachat.net/education/news-186641