“งานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 27” ปีนี้คึกตัก ลุ้นผู้ชนะเลิศยอดเยี่ยม Grand Champion กระบือดำ – กระบือเผือก ชิงถ้วยพระราชทาน

  •  
  •  
  •  
  •  

“งานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 27” ปีนี้คึกตัก มีการจัดประกวดควายชิงถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “รางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม Grand Champion” กระบือดำ – กระบือเผือก (เพศผู้ – เพศเมีย) จำนวน 4 รางวัล เผยการจัดงานนี้ทุกปีทำให้เกษตรกรเจ้าของกระบือจากทุกภูมิภาคของประเทศ ตื่นตัวในการพัฒนาสายพันธุ์กระบือของตนเอง ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ด้วย

เมื่อเวลา 11.00 น วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 . นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานเปิด “งานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ในงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2568 โดยมีนายชาญประเสริฐ พลซา ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับ นางสาวเยาวนิตย์ บุรีรักษา ปศุสัตว์เขต 4 กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานฯ และมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และประชาชนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานฯ ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปีนี้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ กิจกรรมการประกวดกระบือ ประเภทแกรนด์แชมป์เปี้ยน กระบือดำ – กระบือเผือก (เพศผู้ – เพศเมีย) จำนวน 4 รางวัล

นายสัตวแพทย์ประภาส กล่าวว่า การจัดงานกระบือแห่งชาติส่งผลให้เกษตรกรเจ้าของกระบือจากทุกภูมิภาคของประเทศ ตื่นตัวในการพัฒนาสายพันธุ์กระบือของตนเอง ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และเกิดความยั่งยืนในการเลี้ยงกระบือต่อไป สำหรับการประกวดกระบือคือ การนำเอากระบือที่ได้คัดเลือกแล้วว่าเป็นตัวที่ดีที่สุดของแต่ละฟาร์ม มาเปรียบเทียบลักษณะทางกายภาพ เพื่อเฟ้นหาตัวที่ดีที่สุด โดยมีคนกลางคือกรรมการเป็นผู้ตัดสินการประกวดกระบือ นับว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์กระบือเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้ทราบว่ากระบือตัวใดเป็นตัวที่มีลักษณะยอดเยี่ยม เหมาะสมที่จะนำไปเป็นพ่อ – แม่พันธุ์ เพื่อพัฒนาพันธุ์กระบือให้เจริญก้าวหน้า และพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามกระบือตัวที่มีลักษณะดี ที่ชนะการประกวดนอกจากจะดีเฉพาะตัวแล้ว ยังจะต้องถ่ายทอดลักษณะดีไปสู่ลูกหลานอีกด้วย ดังนั้น กระบือที่ได้รับรางวัลในสนามประกวดจะเป็นตัวที่ทำคะแนนสะสมให้กับพ่อแม่ ยิ่งถ้าพ่อ – แม่พันธุ์ตัวใดมีลูกที่ชนะการประกวดในสนาม พ่อ–แม่พันธุ์ตัวนั้นก็จะมีชื่อเสียง มีผู้ต้องการลูกนำไปขยายพันธุ์ ถ้าเป็นตัวพ่อพันธุ์จะมีผู้ต้องการน้ำเชื้อไปใช้อย่างกว้างขวาง ทำให้พันธุกรรมที่ดีกระจายไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาพันธุ์กระบือของประเทศเป็นอย่างยิ่ง

จากเหตุผลดังกล่าวกรมปศุสัตว์ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น ภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนภาคีเครือข่ายกระบือทั่วประเทศ ร่วมกันจัดงานมหกรรมกระบือแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2568 ภายในงานวันเกษตรภาคอีสาน ประจำปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนากระบือของประเทศไทย สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแก่เกษตรกร รวมถึงส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรและประชาชน ให้ความสนใจในการเลี้ยงกระบือ

นอกจากนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้สนใจด้านการจัดการเลี้ยงกระบือ การปรับปรุงพันธุ์ การป้องกันโรคระบาด การพัฒนาด้านเทคโนโลยีอาหารสัตว์และเทคโนโลยีการผลิตกระบือที่มีคุณภาพ เป็นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแสดงผลงานในการพัฒนาการผลิตกระบือ ตลอดห่วงโซ่การผลิต

สำหรับการประกวดในครั้งนี้ มีกระบือเข้าร่วมการประกวดจากทุกภาคของประเทศ ซึ่งกระบือที่ได้รับการพิจารณาว่ามีลักษณะดีที่สุดในการประกวด ส่วนกรรมการผู้ตัดสินการประกวดกระบือเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกระบือจากกรมปศุสัตว์ โดยการประกวดครั้งนี้ ได้กำหนดรุ่นการประกวดโดยใช้เกณฑ์อายุของกระบือตามบัตรประจำตัวสัตว์ และต้องมีเอกสารประกอบการรายงานตัวกระบือที่เข้าประกวดประกอบด้วย

1) บัตรประจำตัวสัตว์ที่ออกโดยกรมปศุสัตว์ หรือ 2) ใบพันธุ์ประวัติที่รับรองโดยกรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) ต้องมีเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ติดอยู่ที่ตัวสัตว์ ได้แก่ การสักเบอร์ที่ใบหู เบอร์หู หรือฝังไมโครชิพ 4) มีใบรับรองการฉีดวัคซีนโรคปากเท้าเปื่อย และโรคคอบวมจากหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานในการประกวดกระบือของประเทศ ป้องกันการเกิดโรคในสัตว์ และส่งเสริมให้เกษตรกรนำสัตว์ไปขึ้นทะเบียน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเลี้ยงกระบือของเกษตรกรต่อไป