ผู้บนิหาร มก. สุดปลื้ม งานเกษตรแฟร์ 2567 โจทย์ได้มากกว่าปีที่แล้ว ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วย ม.หาวิทยาลัยเกษตรฯ ยังอยู่คู่เคียงกับประชาชนอย่างเหนียวแน่น

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิการบดี มก. สุดปลื้ม งานเกษตรแฟร์ 2567 ตอบโจทย์ได้มากกว่าปีที่แล้วและคนเข้าชมงานแน่นเหมือนเดิม ทำให้เงินสะพัดคาดหลายพันล้านสู่บูธเกษตรกรกว่า 1,700 บูธที่เข้าร่วมงาน พร้อมขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังอยู่คู่เคียงกับประชาชนอย่างเหนียวแน่น และเป็นงานเกษตรแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย

ดร.จงรักษ์ วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงความสำเร็จในการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 “นวัตกรรมนนทรี แก้วิถีโลกรวน” ว่า การที่ได้เห็นประชาชนเป็นล้านคนมาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของทุกคน ฉะนั้น ถือว่าเป็นการเปิดบ้านต้อนรับเจ้าของของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แท้จริง ปีนี้ธีมงานก็ยังคงเกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อน ซึ่งเราจะใช้นวัตกรรมในการแก้ไขอย่างไร นวัตกรรมของเกษตรศาสตร์ที่ใช้แก้ปัญหาได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์ข้าวที่ทนโลกร้อนหรือพันธุ์ข้าวที่ทนความแห้งแล้ง  พันธุ์ข้าวที่เกี่ยวข้องกับการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่หรือว่าสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงวัย พันธุ์ข้าวที่ไม่มีเบาหวานอย่างนี้เป็นต้น

ทั้งนี้นย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้มีการเปิดตัวข้าวเหนียวแดงโภชนาการสูง สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า Redberry เป็นข้าวต้นเตี้ยที่ให้ผลผลิตสูง มีต้นกำเนิดจากการกลายพันธุ์ของข้าวเจ้าหอมนิล ซึ่งมีสารอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัย ลดเสี่ยงโรคมะเร็งและโรคหัวใจ  พันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ (11F09) ก็เป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ปรับปรุงล่าสุด เป็นพันธุ์ข้าวที่ดี มีความทนทานต่อสภาวะโลกรวน ทนทานต่อน้ำท่วมฉับพลัน โรคขอบใบแห้ง โรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ความเป็นพิษของธาตุเหล็กและอุณหภูมิสูง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 6+ เป็นข้าวสีม่วงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก ทุกภาควิชา ทุกคณะ ปีนี้พิเศษอีกปีมีการจัดงานบนเส้นทางวิศวกรรม ครั้งที่ 12 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้ธีม สุดยอดนวัตกรรมอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีนวัตกรรมจับต้องได้ 48 ผลงานเกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อน SDG และเกี่ยวข้องกับ เทรนด์ของโลก เช่น รถที่ผลิตจากพลังงานไฮโดรเจน นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเก็บกัก คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการดูดคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องโลกร้อนได้ดี เรื่องเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เรื่องนวัตกรรมด้านดิจิตอลต่าง ๆ มีครบถ้วนสมบูรณ์แบบ

ดร.จงรัก กล่าวอีกว่า คนที่มาในงานเกษตรแฟร์ได้รับประโยชน์ และที่สำคัญนวัตกรรมการประกวดต่างๆ ด้านพืช กล้วยไม้ ไม้ประดับ ผลไม้ การประกวดปลากัด ประกวดแพะ เครื่องจักรกลการเกษตร การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีนวัตกรรมที่เด็กกับผู้ใหญ่ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น การผลิตปุ๋ยเม็ดชีวภาพจากเปลือกกุ้งเหลือทิ้ง การผลิตกาวแท่งจากหนังของปลา นวัตกรรมต้นแบบอาคารเรียนประหยัดพลังงาน ปลอดฝุ่นเพื่อสุขภาวะที่ดี มีการตอบปัญหาด้านการเกษตรสำหรับเด็กนักเรียน การวาดภาพ การจัดตู้ปลา

“เรามีกิจกรรมหลากหลายตั้งแต่เด็กเล็กๆ จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่จนถึงผู้สูงวัยที่สามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมภูมิใจมากๆ ปีนี้น่าจะตอบโจทย์ได้มากกว่าปีที่แล้วและคนก็แน่นมากเหมือนเดิม ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนจริงๆที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์แล้วก็ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังอยู่คู่เคียงกับประชาชนอย่างเหนียวแน่น ขอบคุณมากนะครับ” ดร.จงรัก กล่าว

อธิการบดี มก. กล่าวอีกว่า งานเกษตรแฟร์มีความเป็นสากล ในความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีชื่อเสียงในหลายๆ มิติ ในเรื่องความเป็นเลิศทางวิชาการ เรื่อง Green University เรื่อง SDG เพราะฉะนั้นก็อยากจะแสดงสิ่งเหล่านี้ให้คนต่างประเทศได้เห็น เราได้เชิญสถานเอกอัครราชทูต 12-15 ประเทศ มาร่วมออกร้าน นำสินค้าและวัฒนธรรมมาแลกเปลี่ยนกันในงานเกษตรแฟร์เป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน

สำหรับงานเกษตรแฟร์ เป็นงานหนึ่งซึ่งสามารถสร้าง income ให้ประเทศ ได้มีการประเมินว่าจะมีรายได้หลายพันล้านเข้ามาที่ประชาชนที่เปิดบูธ กว่า 1,700 บูธ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ที่สำคัญ สามารถส่งเสริมเป็นการท่องเที่ยวของประเทศได้ว่า งานเกษตรแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ งานเกษตรแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อยู่ที่ประเทศไทย อยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการเกษตรและอาหาร

อย่างไรก็ตาม   แม้ว่างานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 จะจบลงแล้ว เมื่อวันที่ 10 ก.พ.67 ที่ผ่านมา แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังคงเปิดแพลตฟอร์มให้ผู้สนใจเข้าชมงานเกษตรแฟร์ออนไลน์เสมือนจริง 360 องศา หรือ “Virtual Kasetfair” อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง“Virtual Kasetfair” นั้นเป็นผลงานการเขียนโปรแกรมและพัฒนาขึ้นโดยทีมนิสิตภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ทั้งหมด ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับบรรยากาศและร้านค้าของงานเกษตรแฟร์ 2567 ราวกับว่าได้มาเดินอยู่ภายในงานจริง ๆ

อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้ผู้เข้าชมสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าและเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนต่างๆ ในงานเกษตรแฟร์ 2567 ทางออนไลน์ได้โดยตรง ทั้งทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟสบุ๊ค หรือช่องทางการขายสินค้าอื่นๆ ที่ร้านค้าระบุไว้ใน “Virtual Kasetfair” โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://kasetfair.ku.ac.th/ นับเป็นการพัฒนางานเกษตรแฟร์ออนไลน์เสมือนจริง 360 องศา ตอบโจทย์งานเทศกาลประจำปีระดับชาติ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3  และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานเกษตรแฟร์ ที่ให้นิสิตและบุคลากรนำองค์ความรู้มาใช้ในการบริหารจัดการ และการบริการด้านต่างๆในงานเกษตรแฟร์

 

ข่าวโดย…. ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์