ธ.ก.ส. สร้างโมเดลการทำเกษตรในโรงเรียน เติมเต็มทั้งหลักสูตรและการลงมือปฏิบัติจริง ในการปลูกผักสวนครัวแบบไร้สารพิษ การเลี้ยงปลาและไก่ไข่ การเพาะเห็ด และการหมักปุ๋ยอินทรีย์ ที่เด็กทำได้ง่ายๆ ได้ผลผลิตดี โดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี มุ่งเป้าพัฒนาทักษะด้านการเกษตรให้กับนักเรียนกว่า 9,000 คน ในโรงเรียน ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง พร้อมขยายผลไปยังครอบครัวนักเรียนและชุมชน เพื่อเสริมสร้างรายได้ ความยั่งยืนทางอาหาร และต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพในอนาคต
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมการสร้างโมเดลทางการเกษตรในโรงเรียนเพื่อสนับสนุนให้นักเรียนได้บริโภคอาหารกลางวันที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมีตกค้าง และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง โดยเติมหลักสูตรความรู้ด้านการเกษตรและการลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การปลูกผักสวนครัวไร้สารพิษ การเลี้ยงปลาและไก่ไข่ การเพาะเห็ด และการหมักปุ๋ยอินทรีย์
เพื่อพัฒนาทักษะด้านการเกษตรให้กับนักเรียน ในการผลิตและเก็บเกี่ยวผลผลิตไปใช้ในการประกอบอาหารกลางวัน และจำหน่ายผลผลิตที่เหลือไปยังตลาดชุมชน เพื่อสร้างรายได้เสริม พร้อมขยายผลองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปยังครอบครัวนักเรียนและชุมชนให้สามารถต่อยอดไปเป็นอาชีพได้ในอนาคต
ในโอกาสนี้ ได้มอบโรงเรือนปลูกผักและอุปกรณ์ในโรงครัว เพื่อใช้ในกิจกรรมของโรงเรียน พร้อมร่วมชมกิจกรรมการทำแปลงผัก การเก็บไข่ไก่จากเล้า การทำอาหารจากผลผลิตของโรงเรียนและจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับนักเรียนอีกด้วย ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการปลูกความรู้ด้านการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนมาต่อเนื่องกว่า 13 ปี โดยมีโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,300 โรงเรียน เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานด้านการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตอาหารปลอดภัย เพื่อนำมาเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน สร้างสุขภาพ พลานามัยที่ดีให้กับเยาวชน และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง
กิจกรรมดังกล่าว มุ่งเน้นส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนเองผลิต สามารถพึ่งพาตนเองและนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสู่การประกอบอาชีพได้ในอนาคต ได้แก่ การปลูกผัก การเพาะเห็ด การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ไข่ และการทำน้ำหมักชีวภาพ ควบคู่การจัดทำแผนการผลิต เพื่อให้นักเรียนมีพืชผัก อาหารปลอดภัยมาใช้ในการบริโภคทั้งปี โดยใช้พื้นที่เล็ก ๆ บริเวณโรงเรียนหรือที่อยู่อาศัยให้เป็นประโยชน์ ใช้เวลาในการผลิตแบบสั้น ๆ ไม่เกิน 45 วัน
ตั้งเป้าหมายขยายโครงการปลูกความรู้ตามโมเดลดังกล่าวไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในปีบัญชี 2567 เพิ่มอีกจำนวน 200 แห่ง จำนวนนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 9,000 คน ทั้งนี้ เพื่อสร้างอาหารปลอดภัย สร้างความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน