ในช่วงฤดูฝน กรมวิชาการเกษตรเตือน เกษตรกรเฝ้าระวังโรคตายพรายหรือโรคเหี่ยวระบาดในกล้วย ให้สังเกตอาการใบกล้วยด้านนอกเหลืองเหี่ยว หักพับตรงโคนของก้านใบ และทยอยหักพับตั้งแต่ใบรอบนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ทำต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด แนะไม่นำหน่อพันธุ์จากกอที่เป็นโรคไปปลูกหรือขยาย หากไม่แน่ใจให้ชุบหน่อพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช พร้อมหมั่นตรวจแปลง หากพบกล้วยแสดงอาการของโรคให้ขุดไปทำลายนอกแปลง
นายศรุต สุทธิอารมณ์ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยเฝ้าระวัง โรคตายพราย หรือ โรคปานามา หรือ โรคเหี่ยว สาเหตุจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f.sp. cubense พบโรคได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของกล้วย โดยให้สังเกตลักษณะต้นกล้วยที่มีอาการของโรคตายพรายใบกล้วยที่อยู่รอบนอกหรือใบแก่แสดงอาการเหี่ยวเหลือง ใบจะเหลืองจากขอบใบและลุกลามเข้ากลางใบ ก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้นเทียม และจะทยอยหักพับตั้งแต่ใบที่อยู่รอบนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน
ระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรง จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง เมื่อตัดลำต้นเทียมตามขวางหรือตามยาว จะพบเนื้อเยื่อภายในลำต้นเทียมเน่าเป็นสีน้ำตาลตามทางยาวของลำต้นเทียม เนื้อเยื่อในเหง้าเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด
การป้องกันกำจัดโรค หากต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ ควรเลือกแปลงที่ไม่เคยพบโรคนี้มาก่อนและเลือกหน่อกล้วยจากแหล่งปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรค หรือไม่นำหน่อพันธุ์จากกอที่เป็นโรคไปปลูกหรือขยาย ใช้หน่อพันธุ์ที่ไม่มีร่องรอยการติดเชื้อ ในกรณีที่ไม่แน่ใจให้ชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6% + 24% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล 43% SC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พร้อมกับปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด โดยใส่ปูนขาว หรือโดโลไมท์
แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี และต้องระมัดระวังการให้น้ำไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นที่เป็นโรคไปต้นปกติ หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบกล้วยแสดงอาการของโรค ให้ขุดต้นที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วโรยด้วยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไป อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อหลุม อุปกรณ์การเกษตร เมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรค ควรทำความสะอาดก่อนนำไปใช้ใหม่ ในแปลงที่มีการระบาดของโรค ควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน
“ปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเกิดโรคคือ พันธุ์พืชที่อ่อนแอ ความชื้นในดินสูง และการระบายน้ำในดินต่ำ วิธีที่เชื้อแพร่กระจายไปได้ดีคือติดไปกับวัสดุขยายพันธุ์หรือหน่อกล้วยที่มีผู้นำไปปลูก อาการของโรคที่พบคือใบกล้วยด้านนอกมีอาการเหลืองเหี่ยว 4-5 ใบและหักพับตรงโคนของก้านใบ แปลงปลูกที่พบโรคส่วนใหญ่ไม่มีการดูเอาใจใส่และกำจัดวัชพืช ไม่มีการเผาทำลายต้นหรือกอที่เป็นโรค เชื้อสาเหตุของโรคแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นได้โดยติดกับหน่อพันธุ์ที่นำไปปลูก การเกิดโรคและอาการของโรคมีความชัดเจนและพบมากในฤดูฝนส่วนฤดูอื่นยังพบโรคได้น้อยกว่า ช่วงนี้จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังและป้องกันกำจัดโรคตายพรายหรือโรคเหี่ยวกล้วยตามคำแนะนำ” นายศรุต กล่าว