
“ตั้งแต่ซีพีเอฟเข้ามาตั้งโรงฟักฯ เมื่อปี 2560 ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างมาก ได้เรียนรู้นวัตกรรมในการทำปุ๋ยหมัก ทำแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ปรับปรุงอาคารศูนย์การเรียนรู้ ทำตลาดของชุมชนเพื่อขายผลผลิต ปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะมีรายได้จากการขายผลผลิตทุกวัน”
จากการที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้นำหลักการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สามารถประยุกต์ใช้กับระดับชุมชน ในรูปแบบของ“เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) จนเกิดผลสัมฤทธิ์ด้านความยั่งยืนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างที่ “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ” ที่นำหลักการนี้มาใช้ขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน จำนวนสมาชิกของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านซับรวงไทร ทั้งหมด 62 คน ได้รวมตัวกันผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ใช้เอง โดยได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบ ทั้งเปลือกไข่และมูลไก่ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำปุ๋ยจากโรงฟักชัยภูมิ ธุรกิจไก่ปู่-ย่าพันธุ์เนื้อ ของซีพีเอฟ ภายใต้โครงการ “โครงการสร้าง สาน สุข วิถีชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ “ สามารถผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ได้ปีละประมาณ 10,000 กระสอบ เพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกฯ นำไปใช้กับไร่ นา และสวน และอีกส่วนหนึ่งจำหน่าย

เสียงตอบรับจากสมาชิกฯ ที่นำปุ๋ยหมักเปลือกไข่ไปใช้ พูดตรงกันว่า คุณสมบัติของปุ๋ยเปลือกไข่ ช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินให้ร่วนซุย เหมาะแก่การเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตดีขึ้น ลดความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยเคมี ส่งผลให้ต้นทุนการเพาะปลูกลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันการลดใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดีขึ้น ที่สำคัญ คือ คนในชุมชนได้บริโภคผักปลอดสารเคมีที่ตัวเองปลูก รวมไปถึงคนในชุมชนที่ซื้อผักจากตลางชุมชนไปบริโภค

นางละมุด โชคสวัสดิ์ หรือ ป้าละมุด อายุ 64 ปี อาชีพทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น มะเขือ พริก ตะไคร้ ข่า ซึ่งเป็นสมาชิกของศูนย์ฯที่ช่วยผลิตปุ๋ยหมักเปลือกไข่ เล่าว่า 1-2 ปีที่แล้ว นำปุ๋ยเปลือกไข่มาใช้กับแปลงผักที่ปลูก ได้ผลผลิตดก โตเร็ว ลูกโต และ
ยังช่วยให้ดินไม่แน่นเกินไป เหมาะกับการเติบโตของพืช ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีจากเดือนละ400-500 บาท เหลือเดือนละ 200 บาท ผลผลิตที่ดีขึ้น ทำให้มีรายได้ดีขึ้นด้วย ปัจจุบัน มีรายได้จากการขายผักเดือนละ 5,000-6,000 บาท

นายอนันต์ รอนยุทธ อายุ 60 ปี อาชีพทำไร่ โดยมีรายได้จากการปลูกมันสำปะหลังเป็นหลัก และมีรายได้เสริมจากการปลูกผัก เป็นสมาชิกฯอีกคนหนึ่ง ที่นำปุ๋ยหมักเปลือกไข่ไปใช้ เล่าว่า คนในชุมชนรวมตัวกันเพื่อไปรับเปลือกไข่และมูลไก่ จากโรงฟักชัยภูมิของซีพีเอฟมาผลิตเป็นปุ๋ย ประมาณ 4 เดือน / ครั้ง หรือเฉลี่ยปีละ 2 ครั้ง นำมาผลิตปุ๋ยฯได้ประมาณ 10,000 กระสอบต่อปี แบ่งให้กับสมาชิกฯของโครงการที่มีส่วนร่วมผลิตปุ๋ยนำไปใช้ อีกส่วนหนึ่งจำหน่ายให้สมาชิกของโครงการฯ ที่ไม่มีเวลามาช่วยผลิตปุ๋ย แต่สามารถซื้อปุ๋ยที่ศูนฯผลิต นำไปใช้กับไร่ นาข้าว สวน แปลงปลูกผัก ได้ผลดี
“ตั้งแต่ซีพีเอฟเข้ามาตั้งโรงฟักฯ เมื่อปี 2560 ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างมาก ได้เรียนรู้นวัตกรรมในการทำปุ๋ยหมัก ทำแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ปรับปรุงอาคารศูนย์การเรียนรู้ ทำตลาดของชุมชนเพื่อขายผลผลิต ปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะมีรายได้จากการขายผลผลิตทุกวัน” นายอนันต์เล่า และยังบอกด้วยว่ามั่นใจในคุณสมบัติของปุ๋ยฯที่ผลิต เนื่องจากมีการส่งปุ๋ยฯ ไปให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตรวจสอบและรับรอง

เช่นเดียวกับ นายชูชีพ ชัยภูมิ อายุ 62 ปี ประธานศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ บ้านซับรวงไทร ซึ่งคนในชุมชนมักจะเรียกติดปากว่า “พ่อชีพ” เล่าว่า แต่ก่อนใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกอ้อยได้ผลผลิตไร่ละ 8 ตัน พอได้ปุ๋ยเปลือกไข่มาเสริม ได้ผลผลิตเพิ่มเป็นไร่ละ 12-13 ตัน ส่วนมันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 3-5 ตันต่อไร่ เป็น 6-7 ตันต่อไร่ สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็ดีขึ้น จากการที่ชุมชนใช้ปุ๋ยเคมีน้อยลง สังเกตได้จากน้ำตามร่องน้ำเวลาฝนตกชะดินลงไปในร่องน้ำ น้ำไม่ขุ่นหรือเสีย และตอนนี้มีไส้เดือนมาอาศัยในดินเยอะเลย จากแต่ก่อนที่ไม่ค่อยมี
พ่อชีพ เล่าด้วยว่า ซีพีเอฟ มาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกระจายน้ำให้ชุมชนด้วย จากเดิมมีหอสูง 1 ถังสำหรับกักเก็บน้ำ เก็บน้ำได้ 30,000 ตัน บริษัทฯ สนับสนุนอุปกรณ์ในการกักเก็บน้ำ ทำให้ชุมชนมีน้ำที่กักไว้ใช้เพิ่่มอีก 8,000 ลิตร และสนับสนุนถังไว้ประจำแปลงทั้ง 25 แปลงที่ปลูกพืช ชุมชนที่เป็นสมาชิกของศูนย์เรียนรู้ฯ มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ ช่วยแก้ปัญหาการกระจายน้ำได้ทุกแปลงอย่างทั่่วถึง

ขณะที่ นางประนอม ชุมนาเสียว อายุ 46 ปี อาชีพทำนา ทำสวน บอกว่า ใช้ปุ๋ยหมักเปลือกไข่มามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยจะนำปุ๋ยฯมารองดิน ไถกลบ และพักทิ้่งไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะนำพืชลงดิน ปุ๋ยหมักเปลือกไข่ ช่วยให้ผลผลิตดก ได้แบ่งปุ๋ยมาช้ปีละ 150 กระสอบ ช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องดินแข็ง ดินแน่น แห้ง ทำให้ดินร่วนซุย และการที่สมาชิกฯศูนย์การเรียนรู้ รวมตัวกันทำกิจกรรม
นอกจากสร้างความสามัคคีในกลุ่ม เอื้อเฝื้อเผื่อแผ่กันแล้ว เราภูมิใจที่สามารถผลิตปุ๋ยมาใช้ในพื้นที่ของเราเอง ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะทุกคนลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง ที่สำคัญ คือ ได้กินผักปลอดสารเคมี พี่ประนอม ยังเล่าด้วยว่า จากที่นำปุ๋ยหมักเปลือกไข่มาใช้กับนาข้าวเมื่อปีที่แล้ว โดยใช้ปุ๋ยหมัก 30 กระสอบกับนาข้าว 5 ไร่ ได้ผลผลิตข้าวเปลือก 100 กระสอบ เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงเท่าตัว จากที่เคยได้ข้าวเปลือก 50 กระสอบ

“โครงการสร้าง สาน สุข วิถีชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ ” เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ด้านสังคมพึ่งตน จากการเข้าประกวดรางวัลสามประโยชน์สู่ความยั่งยืน ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นรางวัลที่ซีพีเอฟ ส่งเสริมให้พนักงานคิดและสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดรับตามกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลักของบริษัท คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และ ดิน น้ำ ป่า คงอยู่