เกษตรกรทำไร่ดีเด่น ปี 65 “รุ่งเรือง ไล้รักษา” เผยสูตรความสำเร็จในการทำไร่สับปะรด ต้องคิดแบบผู้ประกอบการ ปรับพื้นที่ปลูกแบบหมุนเวียน เน้นผลผลิตที่ตลาดต้อง เน้นที่คุณภาพได้มาตรฐาน GAP ยึดหลักตลาดนำการผลิต ทำน้อยได้มาก เน้นการเทคโนโลยี่แทนแรงงานคน ดัแปลงเองเพื่อเหมาะกับพื้นที่
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า นายรุ่งเรือง ไล้รักษา เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด อยู่บ้านเลขที่ 136 หมู่ที่ 11 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเกษตรกรที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คัดเลือกเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก เข้ารับรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ ประจำปี พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ด้วยเป็นเกษตรกรที่ปฏิบัติจริงในพื้นที่ของตนเองจนประสบความสำเร็จ โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่เข้าไปส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการพัฒนา สามารถบริหารจัดการการผลิต การตลาดให้สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน ช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของครัวเรือน รวมถึงชุมชนให้ดีขึ้น สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรได้เป็นอย่างดี
นายรุ่งเรือง ไล้รักษา เกษตรกรดีเด่น สาขาทำไร่ กล่าวว่า ประกอบอาชีพทำไร่สับปะรดมากว่า 49 ปี จากเคยทำสับปะรดโรงงานมากกว่า 200 ไร่ ปัจจุบันแบ่งสัดส่วนพื้นที่ทำสับปะรดโรงงานควบคู่กับการทำสับปะรดผลสด ปรับใช้พื้นที่หมุนเวียนผลิตในพื้นที่ 70 ไร่ ทำการผลิตแบบประณีต ควบคู่กับการทำตลาดของตนเอง “ทำน้อยแต่ได้มาก” เลือกสายพันธุ์ผลสดที่ตอบโจทย์ตลาด เช่น พันธุ์เพชรบุรี1 พันธุ์ตราดสีทอง และพันธุ์ MD2 ภายใต้แบรนด์ SIAM GOLD ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เน้น “ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดี” ตลอดจนพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ถูกใจผู้บริโภคมีคุณภาพสม่ำเสมอ คือ รูปทรงสวยงาม รสชาติหวาน และเนื้อสีเหลืองสวย
สำหรับการทำเกษตรใช้หลัก ตลาดนำการผลิต บริหารจัดการแบบ “ผู้ประกอบการเกษตร” สร้างมูลค่าสินค้าตอบโจทย์ตลาด ส่งผลทำให้บริหารจัดการการผลิตและตลาดได้อย่างสมดุล มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน หลากหลายช่องทาง รวมถึงตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com ของกรมส่งเสริมการเกษตร มีผลผลิตจำหน่ายทั้งในรูปผลสด และแปรรูป พร้อมกันนี้ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ในพื้นที่รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการบริหารจัดการตลาดร่วมกัน
นายรุ่งเรือง กล่าวอีกว่า หัวใจสำคัญของการผลิต คือ นำประสบการณ์มาเป็นข้อมูลวางแผนการผลิตให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ผลผลิตเฉลี่ย 8,800 กก.ต่อไร่ ในขณะที่ผลผลิตภาพรวมประเทศ 3,521 กก.ต่อไร่ มีการผลิตคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP อีกทั้งยังเป็นเกษตรกรที่ไม่ได้มีความคิดอยู่แต่ในกรอบ มีการศึกษาการใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมวิธีการ และดัดแปลงอุปกรณ์ เครื่องมือใหม่ ๆ ให้สามารถบริหารจัดการคุณภาพของผลผลิตสับปะรดผลสด สามารถลดต้นทุน และการแก้ปัญหาด้านการผลิตในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นได้รับการยอมรับ และถูกนำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น เทคนิคการผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้ท่อระบายความร้อนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสามารถผลิตปุ๋ย การดัดแปลงหางไถสำหรับยกร่องสับปะรด การออกแบบ “แขนบูม” ในการให้น้ำ การฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมีในแปลง การคิดค้นเทคนิคการขยายหน่อพันธุ์ เทคนิคต่าง ๆ เช่น วิธีการผ่าหน่อ การสไลด์ลำต้น การใช้เหง้า และการชักนำดอกของสับปะรด สามารถขยายหน่อพันธุ์ที่มีราคาแพงอย่างพันธุ์ MD2 สายพันธุ์ใหม่ ๆ จากภาครัฐและเอกชน รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวม และทดสอบพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อค้นหาพันธุ์ที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
จากความสำเร็จในฐานะเป็นประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดอำเภอหัวหิน รวมถึงประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. อำเภอหัวหิน และอื่นๆ อีกหลายตำแหน่ง ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่เพื่อนเกษตรกร และเป็นศูนย์กลางการขยายผลเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตสับปะรด ของหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวิจัยด้านสายพันธุ์สับปะรดผลสด การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสับปะรด และได้รับสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะ Handy Sense ในการควบคุมระบบน้ำ ของกรมส่งเสริมการเกษตร รวมถึงเป็นแปลงนำร่อง “แปลงสับปะรดอัจฉริยะ” ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย