บทสรุปปัญหาชานาไทยทั้ง 4 ภาค พบเรื่องเดียวมากที่สุด “ต้นทุนแพง” บางพื้นที่พุ่งขึ้นกว่า 200 % สภาเกษตรกฯ เตรียมจับมือเกษตรกรผู้ประสบผลสำเร็จในการทำนาต้นทุนน่ำ เดินหน้าดัน “จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ” ทั่วไทยหวังเป็นการกระตุ้นและนำร่องการขับเคลื่อนให้ชาวนาก้าวข้ามปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงไปให้ได้
นายณรงค์รัตน์ ม่วงประเสริฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดเวทีรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขด้านข้าวและชาวนาไทย 4 ภาค โดยมีชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ส่งออก มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อรวบรวมแล้วจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านข้าวและชาวนาอย่างยั่งยืนและครบวงจร ซึ่งทั้ง 4 เวทีพี่น้องชาวนาจะประสบปัญหาหลักเรื่องเดียวกัน คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงมากโดยเฉพาะเรื่องปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้นไปถึงกว่า 200% รวมทั้งเรื่องสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งหมดเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่ชาวนาต้องใช้ จากค่าเฉลี่ยของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเรื่องต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณเกือบ 4,000 บาทต่อไร่ ทั้ง 4 เวทีที่สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดเวทีรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขด้านข้าวและชาวนาไทยนั้นกลับพบชาวนาที่ใช้ต้นทุนการผลิตเพียงแค่ประมาณ 2,000 บาทนิดๆ หรือชาวนาที่ใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงถึง 6,000 กว่าบาทต่อไร่ก็มีเช่นเดียวกัน
ดังจึงนำมาถึงบทสรุปว่า สภาเกษตรกรฯจะนำชาวนาที่ประสบความสำเร็จกับการลดต้นทุนการผลิตในการทำนาด้วยวิธีการ “จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ” เพื่อเป็นการกระตุ้นและนำร่องการขับเคลื่อนให้พี่น้องชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศได้ก้าวข้ามปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงไปให้ได้
นายณรงค์รัตน์ กล่าวอีกว่า เรื่องใหญ่ที่สุดตอนนี้คือเกษตรกร ชาวนา มีความจำเป็นเหลือเกินที่จะต้องปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่ภาครัฐพยายามควบคุมราคาปัจจัยการผลิตแต่ไม่สามารถทำได้ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ได้กล่าวให้แนวทางว่า บันไดก้าวแรกพี่น้องเกษตรกร ชาวนา ต้องลดต้นทุนการผลิตเพื่อเป็นทางรอด จึงนำสู่แนวคิด “จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ” ด้วยสภาเกษตรกรฯมีเกษตรกร ชาวนาที่เป็นต้นแบบประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา ปรับตัว เรื่องการทำนาในพื้นที่ของตนเองและสามารถที่จะถ่ายทอดความรู้สู่พี่น้องชาวนาผู้ร่วมอาชีพได้
“ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติเราจะนำไปหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรมการข้าว เพื่อร่วมกันถ่ายทอดความรู้สู่ชาวนาต่อไป โดยแนวคิด จับมือทำ 1 จังหวัด 1 ต้นแบบ จะนำเรื่องเสนอขอความเห็นชอบในการประชุมสภาเกษตรกรแห่งชาติ เดือนมิถุนายน 2565 เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและโครงการเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป ” นายณรงค์รัตน์ กล่าว