เห็นตัวเลขชัดๆ แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันที่พัทลุง ลดต้นทุน 22 % เพิ่มผลผลิตร้อยละ 30 ขายได้ราคากว่า

  •  
  •  
  •  
  •  

เกษตรจังหวัดพัทลุง โชว์ความสำเร็จเกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน เผยเห็นผลชัดๆ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยจากเดิมปีะละ 3,000 กิโลกรัมต่อเป็น 3,900 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มีคุณภาพเกรดเอ ขายได้ราคาสูงกว่าท้องตลาด 0.20 บาท ขณะชาวสวนปาล์มฯ ยืนยันเองหลังจากร่วมโครงการ ลดต้นทุนการผลิตได้ 22% เพิ่มผลผลิตถึง 30% ขณะที่สมาชิกกลุ่มสามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตและจัดการตลาดได้ 100%

นายสมนึก คงชู เกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมัน เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ปรับโครงการสร้างให้เกิดการผลิตในรูปแบบระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
ด้วยส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูก มีความเข้มแข็ง สามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพได้ มาตรฐาน และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

อีกทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้มีการต่อยอดความสำเร็จของแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันในพื้นที่ส่งเสริมให้เข้าร่วมโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดซึ่งแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง คือหนึ่งในความสำเร็จของการขยายผล
จนเกิดการพัฒนาขีดความสามารถ สามารถเป็นต้นแบบความสำเร็จได้อย่างครบทุกด้าน โดยมีผลการจัดชั้นคุณภาพ A

จากการเข้าไปส่งเสริมพัฒนาของสำนักงานเกษตรอำเภอควนขนุน และสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุงได้ทำให้แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลมะกอกเหนือ มีผลงานการพัฒนาที่โดดเด่นทั้งด้านลดต้นทุนการผลิต อย่างเช่นการลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี ด้วยการใช้วิธีการจัดซื้อในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาจำหน่ายให้กับสมาชิกอีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เอง ด้วยการย่อยทางปาล์มน้ำมันให้เป็นวัสดุใช้ทำปุ๋ยหมักและส่งเสริมเลี้ยงแหนแดงในร่องสวนเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจน อันเป็นการลดต้นทุนการผลิต

ส่วนด้านการบริหารจัดการ แปลงใหญ่แห่งนี้ได้มีการจัดการด้านการวางแผนการผลิตร่วมกันด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยของสมาชิกตามสภาพพื้นที่ออกเป็น 4 กลุ่มย่อย เพื่อให้มีการบริหารจัดการสะดวกและสมาชิกแต่ละกลุ่มย่อยสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นด้วย

นายสมนึก กล่าวอีกว่า ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลมะกอกเหนือสามารถเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันให้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างชัดเจนอันเป็นผลจากที่เกษตรกรให้ความสนใจในการบริหารจัดการสวน ผลผลิตเฉลี่ยจากเดิม 3,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เพิ่มเป็น 3,900 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี

ทั้งนี้เป็นผลผลิตที่เพิ่มแบบเน้นการพัฒนาด้านคุณภาพตามกติกาที่กำหนด เช่น การให้สมาชิกทุกคนเน้นตัดปาล์มสุกเท่านั้น รวมถึงต้องได้รับรองมาตรฐาน GAP และขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อให้ได้มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนมาตรฐาน (RSPO)สำหรับในด้านการตลาด สามารถจัดการได้อย่าง 100% โดยได้ตกลงกับบริษัทที่รับซื้อปาล์มน้ำมันด้วยรับซื้อปาล์มน้ำมันของสมาชิกแปลงใหญ่ราคาสูงกว่าท้องตลาด 0.20 บาทต่อกิโลกรัมเหตุเพราะสมาชิกแปลงใหญ่มีตัดปาล์มสุกและได้คุณภาพตรงตามที่บริษัทต้องการ

ด้านนายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ กล่าวว่า แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลมะกอกเหนือ อยู่ตำบลมะกอกเหนือ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน 40 รายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเกือบ 500 ไร่ ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานในสังกัดถือว่า มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันตำบลมะกอกเหนือสามารถลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันได้ประมาณ 22% เพิ่มผลผลิตได้ 30%และสมาชิกกลุ่มสามารถเพิ่มคุณภาพผลผลิตและจัดการตลาดได้ 100%

“แต่ก่อนนี้เกษตรกรจะปลูกปาล์มน้ำมันกันแบบต่างคนต่างทำ และขาดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสวนรวมถึงการต้องซื้อปัจจัยการผลิต อย่างปุ๋ย ยา ในราคาที่สูง แต่พอมีการเข้ามาส่งเสริมให้เป็นเกษตรแปลงใหญ่ ทุกอย่างเปลี่ยนไปพลิกชีวิตเกษตรกร วันนี้สมาชิกทุกคนต่างมีความรู้ที่เจ้าหน้าที่เกษตรมาอบรบให้ทำให้สามารถพัฒนาสวนปาล์มของตนเองให้ดีขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ จนลานรับซื้อต่างแย่งกันโดยล่าสุดสามารถจำหน่ายได้ถึงราคากิโลกรัมละ 9.50 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงเพราะมีการรวมกันซื้อโดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า เกษตรแปลงใหญ่เป็นโครงการที่ดีมาก มีแต่ให้กับเกษตรกรทุกอย่างเลยครับ”นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดถือว่าเป็นโครงการที่ช่วยต่อยอดทำให้เกิดการพัฒนาด้วยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมตรงกับความต้องการของคณะกรรมการ และสมาชิก เพราะเรามุ่งเน้นการบริหารจัดการกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง


“การได้รับอนุมัติงบประมาณตามโครงการที่ได้ยื่นเสนอ เมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมาถือว่าสร้างประโยชน์อย่างมาก เพราะงบประมาณจำนวน 2,999,900 บาท ได้นำไปจัดซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถแทรกเตอร์ โดรน เครื่องสูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า และอื่น ๆ มาให้บริการกับสมาชิกในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด ทำให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตอีกทั้งเกิดธุรกิจให้บริการทั้งกับสมาชิกและบุคคลทั่วไปอีกด้วยช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มและสมาชิกแปลงใหญ่เพิ่มขึ้น” นายสมเกียรติ กล่าว