นักวิจัย มก.-กรมอุทยานฯ ค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก “นวลสันติสุข” ที่อุทยานฯผาแต้ม

  •  
  •  
  •  
  •  

นักวิจัย ม.เกษตรศาสตร์ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าฯ พบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก “นวลสันติสุข” ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี อยู่วงศ์ Clusiaceae จะออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคมชี้ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดที่ใกล้เคียง

รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.สมราน สุดดี ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืช (นักวิทยาศาสตร์) สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ค้นพบและร่วมกันตั้งชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก (new species) ชื่อไทย “นวลสันติสุข” และ คำระบุชนิด “santisukiana” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.ธวัชชัย สันติสุข (พ.ศ. 2487–2563) อดีตราชบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืชและเป็นผู้มีคุณูปการต่องานด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย โดยค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทบทวนอนุกรมวิธานพืชสกุล Garcinia L. (Clusiaceae) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand) โดยมี รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการหลัก

สำหรับที่มาของ “นวลสันติสุข” นั้น ดร.สมราน สุดดี และคณะ พบพืชชนิดนี้ครั้งแรกในป่าเต็งรัง บริเวณผาชนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี และได้เก็บตัวอย่างที่มีผลอ่อน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550    (S. Suddee, P. Trisarasri, M. Thanaros & N. Ritphet 3075) ต่อมาได้เก็บตัวอย่างที่มีดอกตูม (ดอกเพศผู้)ในพื้นที่เดียวกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 (S. Suddee, P. Puudjaa, C. Hemrat & W. Keiwbang 5393) และได้ส่งตัวอย่างให้ รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ระบุชนิด

หลังจากนั้น รศ.ดร.ฉัตรชัย และ นางสาววาสนา สุราวุธ นักวิชาการป่าไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เก็บตัวอย่างที่มีดอกเพศเมีย ผลแก่และผลสุก ในป่าดิบแล้งบริเวณป่าดงนาทามอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 (C. Ngernsaengsaruay & W. Surawoot G02-23092020, G03-23092020, G04-23092020) ต่อมาได้เก็บตัวอย่างที่มีดอกเพศผู้ในป่าเต็งรัง บริเวณผาชนะได อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 (C. Ngernsaengsaruay & W. Surawoot G05-10122020)

เมื่อได้ตรวจสอบโดยละเอียด พบว่าเป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงได้เขียนบรรยายโดยละเอียด ประกอบด้วย ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดที่ใกล้เคียง เขตการกระจายพันธุ์ ตัวอย่างพรรณไม้ที่ใช้ศึกษา ถิ่นที่อยู่ สถานภาพการอนุรักษ์ ช่วงเวลาออกดอกและเป็นผล ที่มาของชื่อ ชื่อพื้นเมือง และการใช้ประโยชน์ ได้เลือกตัวอย่างที่มีดอกเพศเมีย ผลแก่และผลสุก ซึ่งเก็บตัวอย่างบริเวณป่าดงนาทาม อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ตำบลนาโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ในป่าดิบแล้ง ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 420 ม. เมื่อวันทื่ 23 กันยายน 2563 โดย ฉัตรชัย เงินแสงรวย และ วาสนา สุราวุธ หมายเลข G02-23092020 (Ngernsaengsaruay & W. Surawoot G02-23092020) เป็นตัวอย่างต้นแบบแรก (holotype) และตัวอย่างคู่ตัวอย่างต้นแบบแรก (isotype)

นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังได้จัดทำต้นฉบับเรื่อง “Garcinia santisukiana (Clusiaceae), a new species from Thailand” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และ ดร.สมราน สุดดี เป็นผู้นิพนธ์ และส่งไปยัง Kew Bulletin เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และเผยแพร่ออนไลน์ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 สำหรับงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) รหัสโครงการ 77.55 ปีงบประมาณ 2555 และ The Carlsberg Foundation, Denmark 2018 โดย Prof. Dr Henrik Balslev เป็นผู้จัดการ

นวลสันติสุข Garcinia santisukiana Ngerns. & Suddee วงศ์ Clusiaceae (Guttiferae)

นวลสันติสุขเป็นไม้ต้นไม่ผลัดใบ สูง 5–18 ม. เส้นรอบวง 20–85 ซม. กิ่งเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากตามแนวนอน เป็นสี่เหลี่ยม เปลือกแตกเป็นสะเก็ด สีน้ำตาลอมเทาถึงสีน้ำตาลเข้ม เปลือกชั้นในสีเหลืองอ่อน ส่วนต่าง ๆ มีน้ำยางสีเหลืองอ่อน เหนียว

ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 1.5–4.3 ซม. ยาว 2.7–9.7 ซม. ปลายแหลม บางครั้งเว้าบุ๋ม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อน เกลี้ยงทั้ง 2 ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ 9–14 เส้น ปลายโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปเป็นวงรอบใกล้ขอบใบและเป็นเส้นขอบในมีเส้นใบระหว่างเส้นแขนงใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัดทั้ง 2 ด้าน มีต่อมเป็นจุดสีดำทั้ง 2 ด้าน และมีเส้นลักษณะเป็นคลื่นเรียงเกือบขนานกับเส้นกลางใบ อยู่ระหว่างเส้นแขนงใบ ก้านใบยาว 0.5–1.3 ซม. ใบสดเปราะเมื่อขยี้ ใบอ่อนสีแดงหรือสีน้ำตาลอมแดง แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน เป็นมัน

ดอก    แยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกหรือดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบที่ใบร่วงแล้ว ดอกบานมีกลิ่นหอมอ่อน เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–7 มม. ก้านดอกสีเขียว ใบประดับ 4 ใบ สีเขียว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ4 กลีบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน ดอกเพศผู้ส่วนมากเป็นช่อดอกแบบช่อกระจุก แต่ละกระจุกมี 3–5 ดอก กลีบเลี้ยงรูปครึ่งวงกลม กว้าง 1–1.5 มม. ยาวประมาณ 1 มม. ปลายมนกลม กลีบดอกรูปไข่กลับ กว้าง 2.2–3.2 มม. ยาว 3–5 มม. ลักษณะเป็นแอ่ง ปลายมนกลม เกสรเพศผู้จำนวนมาก เชื่อมติดกันเป็น 4 กลุ่ม สีขาวนวล ก้านชูอับเรณูสั้นมาก อับเรณูขนาดเล็กมาก เกสรเพศเมียที่เป็นหมันรูปเห็ด ยาว 3–3.6 มม. ยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองอ่อน

ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อดอกแบบช่อกระจุก แต่ละกระจุกมี 3–5 ดอก กลีบเลี้ยงขนาดเท่ากัน รูปครึ่งวงกลม กว้าง 1–2 มม. ยาว 1–1.5 มม. ปลายมนกลม กลีบดอกรูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กลับ กว้าง 2.5–3.5 มม. ยาว 3–4 มม. ลักษณะเป็นแอ่ง ปลายมนกลมเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน เชื่อมติดกันเป็น 4 กลุ่ม อยู่รอบโคนรังไข่ เกสรเพศเมียรูปเห็ด รังไข่สีเขียว รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง 1.8–2.2 มม. ยาว 1–2 มม. มี 4 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1 เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียสีเหลืองอ่อน รูปครึ่งทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.2 มม. เป็นแฉกตื้น 4 แฉกมีปุ่มเล็ก

ผล   แบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปทรงรูปไข่ กว้าง 1–2.5 ซม. ยาว 1.5–2.7 ซม. สีเขียว สุกสีแดง เกลี้ยง ผนังผลหนาประมาณ 0.8 มม. มีกลีบเลี้ยงติดทน ขนาดเล็ก ยอดเกสรเพศเมียติดทนสีน้ำตาลอมดำ แบน เส้นผ่านศูนย์กลาง 2–2.2 มม. เป็นแฉกตื้น 4 แฉก ก้านผลยาว 1.5–2.5 มม. มีเมล็ด 1–2 เมล็ด มีลายสีน้ำตาลสลับกับสีน้ำตาลอ่อน ด้านหนึ่งแบน มีขั้วเมล็ดเห็นชัด อีกด้านหนึ่งนูนเล็กน้อย รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1–1.5 ซม. ยาว 1.5–2 ซม. ปลายมนกลมทั้ง 2 ด้าน เปลือกเมล็ดชั้นนอกเป็นเนื้อนุ่ม สีเหลือง อาจมีเมล็ดฝ่อ

นวลสันติสุขมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศทางภาคตะวันออก พบตามป่าดิบแล้ง (บริเวณป่าดงนาทาม) และป่าเต็งรังบนหินทราย (บริเวณผาชนะได) อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี

อ้างอิงตามการแบ่งเขตการกระจายพันธุ์ของพรรณพืชในประเทศไทย (Thailand floristic regions)] ที่สูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 400 ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม และกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศคาดว่าพบที่ลาว

ผู้วิจัยขอขอบคุณนางสาววาสนา สุราวุธ นักวิชาการป่าไม้ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสถาพร พิมา และนายนพรัตน์ ชื่นชม เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม ที่อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือเรื่องการเก็บตัวอย่าง และขอขอบคุณนางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์ ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องการทำงานในห้องปฏิบัติการ และนางสาวปวีณา เวสภักตร์ ที่ให้ความช่วยเหลือเรื่องการวาดภาพลายเส้น

การอ้างอิง

Ngernsaengsaruay, C. & Suddee, S. 2022. Garcinia santisukiana (Clusiaceae), a new species from Thailand. Kew Bull (2022). https://doi.org/10.1007/s12225-021-09979-8

ข่าวโดย….ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์