นายกฯสั่งกรมฝนหลวงประสานกองทัพทำฝนเทียมช่วยเกษตรกรด่วน

  •  
  •  
  •  
  •  

นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้ง จ.สุรินทร์ สั่งกำชับฝนหลวงฯ ประสานเหล่าทัพ ร่วมทำฝนช่วยพี่น้องเกษตรกร-ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

      วันที่ 19 สิงหาคม 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนและบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดูแลแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

         ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้มีการลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์ภัยแล้งและการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านพื้นที่การเกษตร การขาดแคลนน้ำของโรงพยาบาลจังหวัดสุรินทร์ พื้นที่แหล่งน้ำเหมืองหินเขาสวาย และอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง จ.สุรินทร์ ที่ได้รับผลกระทบ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากฝนทิ้งช่วงและฝนแล้งเป็นระยะเวลานาน จึงได้สั่งการหน่วยงานในสังกัด ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการบรรเทาปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน ได้แก่ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เกษตรและเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย และกรมพัฒนาที่ดินรับผิดชอบพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
         สำหรับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เน้นให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ ปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา ซึ่งมีทั้งพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ พื้นที่ ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ที่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์และส่งผลกระทบต่อการ- ใช้น้ำอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยที่ผ่านมาหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ มีการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน โดยใช้เครื่องบินชนิด CARAVAN ที่ประจำการ จำนวน 3 ลำ ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงมาแล้ว 47 วัน 258 เที่ยวบิน มีวันฝนตก 39 วัน บริเวณพื้นที่ จ.สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ช่วยเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 15 สิงหาคม 2562 จำนวน 26 วัน มีวันฝนตก 13 วัน มีปริมาณน้ำฝนวัดได้ 431.4 มิลลิเมตร และช่วยเติมน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2562 จำนวน 28 วัน มีวันฝนตก 14 วัน มีปริมาณน้ำฝนวัดได้ 177.2 มิลลิเมตร ทั้งนี้ ยังคงปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่องทุกวัน เมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งให้กับพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด

          ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับการประสานและการสนับสนุนเครื่องบินจากเหล่าทัพ ประกอบด้วย ได้รับสนับสนุนจากกองทัพอากาศจำนวน 5 ลำ และจากกองทัพบก จำนวน 1 ลำ รวมเป็นทั้งหมด 6 ลำ เพื่อร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งเครื่องบินทั้งหมด มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ เนื่องจากได้มีการติดตั้งกรวยโปรยสารบริเวณส่วนท้องของเครื่องบิน และ เคยร่วมปฏิบัติการฝนหลวงกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรมาก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับเครื่องบินอื่นๆ ของกองทัพที่จะมาร่วมปฏิบัติการฝนหลวง ยังอยู่ในระหว่างการดัดแปลงและติดตั้งกรวยโปรยสาร โดยหากมีความ-พร้อมแล้วจะเข้าร่วมปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทันที

         อย่างไรก็ตาม นอกจากบริเวณพื้นที่ จ.สุรินทร์ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก ในขณะนี้ ยังมีบริเวณพื้นที่อื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ประสบภัยแล้ง และพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคในทุกภูมิภาคประสบปัญหาดังกล่าวด้วย ซึ่งทางกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้มีการติดตามสถานการณ์และปฏิบัติการฝนหลวงทุกวันเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม เพื่อเร่งช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยผลรวมการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เริ่ม ตั้งหน่วยปฏิบัติการ ประจำปี 2562 (1 มีนาคม – 15 สิงหาคม 2562) มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 158 วัน 4,356 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 88.17 มีฝนตกบริเวณพื้นที่ต่างๆ เช่น บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ ขอนแก่น มหาสารคาม สระแก้ว นครศรีธรรมราช บริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การต่ำกว่า 30% เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำกระเสียว อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว รวมถึง ช่วยบรรเทาสถานการณ์ไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้ด้วย นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย